ชื่อสมุนไพร : รางแดง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ก้องแกบ, เขาแกลบ, เห่าดำ, ฮองหนัง, ฮ่องหนัง (เลย), ปลอกแกลบ (บุรีรัมย์), เถามวกเหล็ก, เถาวัลย์เหล็ก (สระบุรี), กะเลียงแดง (ชลบุรี-ศรีราชา), แสงอาทิตย์, แสงพระอาทิตย์, ก้องแกบ, ก้องแกบเครือ, ก้องแกบแดง, เครือก้องแกบ, หนามหัน (ภาคเหนือ) และลำโพงดำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ventilago denticulata Willd.
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : RHAMNACEAE
รางแดง เป็นพรรณไม้ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นๆ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการทาบเถา กิ่งชำ กิ่งตอน และใช้เมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้มักขึ้นตามป่าโปร่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางจังหวัดสระบุรี ส่วนในกรุงเทพฯ มีการปลูกกันบ้างตามบ้าน เมื่อใบมาผิงไฟเพื่อทำยาจะมีกลิ่นคล้ายกับแกลบข้าว และใบนำมาคั่วแล้วใช้ชงกับน้ำดื่มเหมือนชา ยอดอ่อน ใบ และเปลือกต้น ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำน้ำยาสระผมสูตรแก้รังแค ซึ่งจะประกอบไปด้วยสมุนไพรอื่นๆ อีก เช่น ส้มป่อยหรือมะนาวหรือมะกรูด ใบหมี่เหม็น และน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) นำมาต้มรวมกันแล้วนำน้ำที่ได้มาสระผมจะช่วยแก้รังแคได้ สารสกัดหยาบจากใบรางแดงด้วยเอทานอลที่ความเข้มข้นร้อยละ 95 พบว่าสารสกัดที่ได้มีลักษณะหนืดข้นมีสีเขียวเข้มถึงดำ และมีกลิ่นหอม เมื่อประมาณปี พ.ศ.2548 มีรายงานการศึกษาทดสอบฤทธิ์การยับยั้งเอนไซม์ phosphodiesterase ด้วยการคัดเลือกสมุนไพรที่หมอยาพื้นบ้านใช้เป็นยาบำรุงกำหนัดและบำรุงสมองรวม 19 ชนิด และพบว่ามีสมุนไพรที่มีฤทธิ์ดังกล่าวอยู่ด้วยกัน 7 ชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ รางแดงหรือเครือเถาแกบ
ลักษณะสมุนไพร :
รางแดงเป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักเลื้อยตามต้นไม้และกิ่งไม้ เถาเป็นสีเทา ผิวของลำต้นหรือเถาเป็นรอยแตกระแหงเป็นร่องสีแดงสลับ ทำให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม แผ่นใบเป็นสีเขียว ใบคล้ายกับใบเล็บมือนางหรือกะดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ส่วนก้านใบสั้น ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายยอด ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเขียวแกมเหลืองหรือสีเขียวอมขาว ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ผลมีรูปร่างกลม ด้านปลายผลแผ่เป็นครีบคล้ายปีกแข็ง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เถา, ใบ และ ราก
สรรพคุณทางยา :
- ราก ยาขับเสมหะ แก้ผิดสาบ
- ใบ ทำให้ชุ่มคอ
- เถา ยาอายุวัฒนะ ยาช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงเส้นสาย แก้เส้น แก้อาการปวดเมื่อยที่ก้นกบ
วิธีการใช้ :
- ยาอายุวัฒนะ นำเถารางแดง 1 ขีด เหล้า 200 มิลลิเมตร และน้ำผึ้ง 200 มิลลิเมตร นำมาดองไว้ 15 วัน ใช้กินครั้งละ 30 มิลลิเมตร วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น
- ยาช่วยทำให้เจริญอาหาร นำเถารางแดง, ต้นกำแพงเจ็ดชั้น, ต้นขมิ้นเครือ, ต้นเถาวัลย์เปรียง และต้นนมควาย นำมาต้มกับน้ำดื่มช่วยให้เจริญอาหาร
- ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยบำรุงเส้นสาย แก้เส้น แก้อาการปวดเมื่อยที่ก้นกบ นำเถาต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
- ยาขับเสมหะ นำรากต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
- แก้ผิดสาบ นำรากรางแดง, รากชะอม, รากเล็บเหยี่ยว, รากสามสิบ, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์แดง, และเขากวาง นำมาฝนใส่ข้าวจ้าวกินแก้ผิดสาบ
- ทำให้ชุ่มคอ นำใบต้มกับน้ำดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
รางแดงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.