ชื่อสมุนไพร : ย่านาง
ชื่อเรียกอื่นๆ : จ้อยนาง (เชียงใหม่), เถาย่านาง, เถาวัลย์เขียว (กลาง), ยาดนาง (สุราษฎร์ธานี),วันยอ (สุราษฎร์ธานี), เถาร้อยปลา, ปู่เจ้าเขาเขียว, ย่านางขาว, ย่านนาง, หญ้าภคินี(เชียงใหม่), เถาเขียว (ภาคกลาง), จอยนาง, ผักจอยนาง (ภาคใต้), ยานนาง และ ขันยอ (สุราษฎร์ธานี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tiliacora triandra (Colebr.) Diels
ชื่อสามัญ : Bamboo grass
วงศ์ : MENISPERMACEAE
ย่านางเป็นพืชไม้เถา ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยสารสำคัญที่มีมากและโดดเด่น คือ เส้นใยอาหาร แคลเซียม เหล็ก เบตาแคโรทีน และวิตามินเอ ย่านางมีฤทธิ์ในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระ สามารถช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย การนำย่านางไปใช้ นิยมนำยอดอ่อนไปประกอบเป็นอาหาร เช่น แกงหน่อไม้ แกงรวมผัก เป็นต้น นอกจากนี้สามารนำใบย่านางมาคั้นน้ำเพื่อใช้ดื่มเพื่อสุขภาพ รักษาโรค แก้ไข้หรือถอนพิษได้ อีกทั้งยังสามารถนำเส้นใยจากเถาย่านางมาใช้ทำเชือกหรือใช้มัดตับหญ้าคาเพื่อมุงหลังคาได้เนื่องจากเส้นใยที่ได้มีความเหนียวมาก
ลักษณะสมุนไพร:
ย่านางเป็นไม้เถาเลื้อยพันตามต้นไม้ หรือกิ่งไม้ เถามีลักษณะกลมขนาดเล็ก สีเขียว ยาว 10-15 เมตร กิ่งอ่อนมีขนอ่อนสีเทาปกคลุม เมื่อแก่เถาแก่จะมีสีคล้ำ รากเป็นเหง้าใต้ดินมีขนาดใหญ่ ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม ออกแบบสลับติดกับลำต้น ลักษณะใบคล้ายรูปไข่ ปลายใบเรียว ฐานใบมน ขนาดใบยาว 5 – 10 ซม. กว้าง 2 – 4 ซม. ใบหนา เหนียว ผิวใบมัน มีลักษณะเป็นคลื่นเล็กน้อย ขอบใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 1-1.5 ซม. มีเส้นกลางใบออกจากโคนใบ 3-5 เส้น และมีเส้นแขนง 2-6 คู่ ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็กประมาณ 1-3 ดอก ออกตามซอกโคนก้านใบหรือตามแขนงข้อใบ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลือง ดอกแยกเพศอยู่คนละต้น ดอกเพศผู้มีกลีบเลี้ยง 6-12 กลีบ ลักษณะรีขนาดกว้างและยาว 2 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 3 หรือ 6 กลีบ ลักษณะสอบแคบ ปลายเว้าตื้น ภายในมีเกสรเพศผู้มี 3 อัน เป็นรูปกระบอง ดอกเพศเมียมีกลีบดอก 6 กลีบ ลักษณะรีแกมขอบขนาน มีเกสรเพศเมียมี 8-9 อัน ติดอยู่บนก้านชูสั้นๆ ผลเป็นผลกลุ่ม ตามข้อและซอกใบ รูปร่างกลมรีขนาดเล็ก ขนาดกว้าง 6-7 มิลลิเมตร ยาว 7-10 มิลลิเมตร ผิวเกลี้ยง สีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมแดงและกลายเป็นสีดำ ภายในมีเมล็ดเป็นรูปเกือกม้า
ย่านางพบตามป่าเต็งรัง ป่าดิบใกล้ทะเล และตามริมน้ำในป่าละเมาะ ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ลำต้น,ราก, ใบ และ เถา
สรรพคุณทางยา :
- ลำต้น รสจืดขม ถอนพิษผิดสำแดง รักษาพิษไข้ แก้ไข้ตัวร้อน แก้ไข้กลับ และรักษาโรคปวดข้อ
- ราก รสจืดขม ใช้แก้ไข้ทุกชนิด ขับพิษต่างๆ แก้ท้องผูก บำรุงหัวใจ บำรุงธาตุ แก้โรคหัวใจบวม แก้กำเดาไหล และแก้ลม
- ใบ รสจืดขม ใช้ถอนพิษไข้ แก้ไข้ แก้เลือดตก แก้กำเดา แก้ผดผื่นคัน แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ลม แก้ปวดหัวตัวร้อน อีสุกอีใส หัด และใช้เป็นยากวาดคอ
- เถา แก้ไข้ ลดความร้อนในร่างกาย ต้านโรคมาลาเรีย และยับยั้งการหดเกร็งของลำไส้
วิธีการใช้:
- แก้ไข้ ใช้รากแห้งประมาณ 15 กรัม ต้มกับน้ำ ดื่มก่อนอาหาร 3 เวลา คือเช้า กลางวัน เย็น
- แก้ผดผื่นคัน นำใบย่านางมาคั้นเอาแต่น้ำ ชโลมที่ผิวบริเวณที่เป็นผดผื่น หรือผสมกับดินสอพองทาทิ้งไว้ที่เป็นผดผื่น
- แก้พิษ บดใบย่านางแล้วคั้นเอาน้ำมาผสมกับน้ำมะนาว ใช้ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ย่านางมีถิ่นกำเนิดตอนกลางของทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.