ชื่อสมุนไพร : มะแว้งต้น
ชื่อเรียกอื่นๆ : แว้งคม (สุราษฎร์ธานี, สงขลา), มะแคว้ง, มะแคว้งขม, มะแคว้งคม, มะแคว้งดำ (ภาคเหนือ), หมากแข้ง, หมากแข้งขม (ภาคอีสาน), มะแว้ง, มะแว้งต้น (ทั่วไป), สะกังแค, สะกั้งแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), หมากแฮ้งคง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), เทียนเฉีย และ ชื่อเทียนเฉีย (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum indicum L.
ชื่อสามัญ : Brinjal
วงศ์ : SOLANACEAE
มะแว้งต้นเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่มีอายุประมาณ 2-5 ปี ซึ่งต้องการน้ำมากและความชื้นในปริมาณปานกลาง สามารถขึ้นเองตามธรรมชาติ และมักพบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ จะขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด จัดได้ว่าเป็นทั้งพืชผักที่ใช้เป็นอาหารและเป็นยาสมุนไพรที่รู้จักกันมานาน นิยมรับประทานผลสดเป็นผัก ซึ่งจะช่วยบำรุงธาตุและทำให้เจริญอาหาร สำหรับสรรพคุณทางยาทั้งตำรับยาแผนโบราณไทยและต่างประเทศ ได้กล่าวถึงสรรพคุณของมะแว้งต้นนั้นใช้เป็นยาแก้ไอขับเสมหะ และกระทรวงสาธารณสุขได้มีประกาศระบุให้เป็นยาสามัญประจำบ้านหรือยาแผนโบราณ สำหรับใช้แก้ไอ ขับเสมหะ ด้วยเช่นกัน อีกหนึ่งสรรพคุณที่สำคัญนั่นก็คือรากของมะแว้งต้นสามารช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ เนื่องจากสารสกัดจากมะแว้งต้นเมื่อนำมาทดสอบกับหนูทดลอง พบว่า มีความเป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง หลังจากที่ฉีดสารสกัดทั้งต้นด้วยแอลกอฮอล์และน้ำเข้าไปในท้องของหนูทดลอง
ลักษณะสมุนไพร :
มะแว้งต้นเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 -1.5 เมตร ลำต้นกลม เนื้อแข็ง สีเขียวอมเทา แตกกิ่งก้าน ทั้งต้นมีขนนุ่มสีเทาขึ้นปกคลุม และมีหนามแหลมขึ้นกระจายอยู่ทั่วต้น ส่วนเปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับรูปทรงรี ปลายใบแหลมเล็กน้อย โคนใบมน ส่วนขอบใบหยักเว้า ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร หลังใบ ท้องใบ และก้านใบมีขนสั้นๆ ปกคลุม โดยท้องใบจะมีขนหนาแน่นหลังใบ และมีหนามสั้นๆ และมีก้านใบยาว ดอกออกเป็นกระจุกตามง่ามใบหรือปลายกิ่ง ประมาณ 3-6 ดอก ดอกเป็นสีม่วงอ่อน ใจกลางของดอกมีเกสรเพศผู้สีเหลือง 5 อัน เชื่อมติดกันกับโคนกลีบดอก ปลายกลีบดอกจะแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก ปลายแหลม คล้ายรูปดาว ก้านดอกมีหนามเป็นตุ่มเล็กๆ ส่วนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉก 5 แหลม ด้านนอกมีขน ผลเป็นรูปทรงกลม ผิวผลเรียบเกลี้ยงและมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียวหรือสีขาวไม่มีลาย ส่วนผลสุกเป็นสีแดงส้มหรือเป็นสีเหลืองอมส้ม ในผลมะแว้งต้นจะมีเมล็ดขนาดเล็ก ลักษณะเป็นรูปกลมแบน สีน้ำตาลอ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ทั้งต้น, ใบ และ ผล
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ แก้ไข้สันนิบาต แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา
- ทั้งต้น แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา
- ใบ บำรุงธาตุ แก้วัณโรค แก้ไอ
- ผล บำรุงน้ำดี รักษาโรคเบาหวาน แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางไต และกระเพาะปัสสาวะ แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา
วิธีการใช้ :
- แก้เสมหะ น้ำลายเหนียว แก้ไอ แก้ไข้สันนิบาต แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา นำรากมาต้มเอาน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา นำทั้งต้นมาต้มเอาน้ำ ดื่มรับประทาน
- บำรุงธาตุ แก้วัณโรค แก้ไอ นำใบมาเคี้ยวสดๆ หรือ ต้มดื่มรับประทาน
- บำรุงน้ำดี รักษาโรคเบาหวาน แก้ไอ แก้เสมหะ แก้น้ำลายเหนียว แก้คอแห้ง ขับปัสสาวะ รักษาโรคทางไต และกระเพาะปัสสาวะ แก้โลหิตออกทางทวารหนัก ทวารเบา นำผลสดนำมาเคี้ยวกลืน ทั้งน้ำและเนื้อ หรือนำผลสดๆ คั้นเอาน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
มะแว้งต้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปเอเชียซึ่งรวมทั้งประเทศและอินเดีย
.