ชื่อสมุนไพร : มะเม่า
ชื่อเรียกอื่นๆ : ต้นเม่า (ภาคกลาง), หมากเม่า (ภาคอีสาน), หมากเม้า, บ่าเหม้า (ภาคเหนือ), เม่า, หมากเม่าหลวง, มัดเซ และ เม่าเสี้ยน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Antidesma ghaesembilla Gaertn.
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
มะเม่าจัดเป็นพืชไม้ยืนต้นที่มักพบได้ตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง หรือตามไร่นาทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะจังหวัดกาญจนบุรีพบว่ามีต้นมะเม่าในป่าเป็นจำนวนมาก และมะเม่ายังจัดว่าเป็นผลไม้ท้องถิ่นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในเทือกเขาภูพานของจังหวัดสกลนคร อีกทั้งยังเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากมายและหลากหลาย โดยผลมะเม่าสุกจะมีสารอาหารที่ร่างกายจำเป็นหลายชนิด ได้แก่ กรดอะมิโนที่ร่างกายต้องการมากถึง 18 ชนิดจากทั้งหมด 20 ชนิด รวมไปถึงยังมีแร่ธาตุที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น แคลเซียม เหล็ก สังกะสี และวิตามินต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และยังมีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรที่ช่วยรักษาอาการต่างๆ นอกจากนี้ยังมีสารที่สำคัญ ก็คือ สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็ง ช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย และยังช่วยชะลอความแก้ชราได้ และสารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติในการช่วยยับยั้งไม่ให้ผนังหลอดเลือดเสื่อมหรือเปราะง่าย ทั้งยังมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้เกล็ดเลือดจับตัวกันน้อยลง จึงมีส่วนช่วยป้องกันโรคหัวใจล้มเหลวได้อีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
มะเม่าเป็นเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนยาวที่มีความสูงถึง 20 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ กิ่งก้านมากและกิ่งแขนงแตกเป็นพุ่มทรงกลม เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดถึง 4 คนโอบ และมีเนื้อไม้แข็งใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับในระนาบเดียวกันมีสีเขียวสด ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน แผ่นใบกว้างรูปไข่ถึงรูปรีและบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบออกหนาแน่นเป็นร่มเงาเส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ก้านใบยาว ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ยอดและปลายกิ่งมีสีขาวอมเหลือง ช่อดอกคล้ายพริกไทย ลักษณะของดอกเป็นดอกแยกเพศกันอยู่คนละต้นกันลักษณะของผลเป็นทรงกลมหรือรีและมีขนาดเล็กและเป็นพวง ผิวมีขน ผนังชั้นในแข็ง ผลดิบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวเข้ม มีรสเปรี้ยว แต่เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและม่วงดำในที่สุด โดยผลสุกจะมีรสหวานอมเปรี้ยวและฝาด เมล็ดกรุบกรับ ในหนึ่งผลจะมีหนึ่งเมล็ด เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เปลือกต้น, ใบ และ ผล
สรรพคุณทางยา :
- ราก บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้มดลูกพิการ แก้ตกขาว
- เปลือกต้น ฝาดสมาน บำรุงกำลัง
- ใบ แก้อาการซีดเหลือง โลหิตจาง เลือดไหลเวียนไม่ดี แก้ปวดศีรษะ แก้โรคผิวหนัง ท้องบวม
- ผล แก้อาการปวดศีรษะ แก้รังแค แก้ช่องท้องบวม แก้อาการไข้ แก้อาการโลหิตจาง อาการซีด และเลือดไหลเวียนไม่ดี
วิธีการใช้ :
- บำรุงไต ขับปัสสาวะ แก้มดลูกพิการ แก้ตกขาว นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ฝาดสมาน บำรุงกำลัง นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ปวดศีรษะ แก้โรคผิวหนัง ท้องบวม นำใบมาตำแล้วทาบริเวณศรีษะ หรือ ผิวหนัง
- แก้อาการซีดเหลือง โลหิตจาง เลือดไหลเวียนไม่ดี นำใบหรือผลมาต้มแล้วนำมาอาบน้ำ
- แก้อาการปวดศีรษะ แก้รังแค แก้ช่องท้องบวม นำผลมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
- รักษาโรคมะเร็ง ยาระบาย ช่วยบำรุงสายตา นำผลมารับประทานสดๆหรือคั้นน้ำดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
มะเม่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของเอเชีย อัฟริกา ออสเตรเลีย หมู่เกาะอินโดนีเซียและเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก
.