มะระขี้นก

ชื่อสมุนไพร : มะระขี้นก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักไห่, มะไห่, มะนอย, มะห่วย, ผักไซ (เหนือ), สุพะซู, สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), มะร้อยรู (กลาง), ผักเหย (สงขลา), ผักไห (นครศรีธรรมราช), ระ (ใต้), ผักสะไล, ผักไส่ (อีสาน), โกควยเกี๋ยะ, โควกวย (จีน) และ มะระเล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Momordica charantia  L.
ชื่อสามัญ : Bitter Cucumber และ Balsum Pear
วงศ์ :  CUCURBITACEAE
MRK1
มะระขี้นกเป็นพืชพันธุ์ไม้เลื้อยที่อยู่ในเขตร้อน จัดเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดแห่งความขม อันเนื่องมาจากมีองค์ประกอบภายในเป็นสารอัลคาลอยด์โมโมดิซีน (momodicine) ซึ่งสารชนิดนี้จะเจือจางลงก็ต่อเมื่อถูกความร้อนส่งผลให้ความขมลดลง สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น แต่คุณค่าทางโภชนาการจะลดลงตามไปด้วย ซึ่งคุณสมบัติในด้านความขมนี้เองมีส่วนช่วยให้เจริญอาหารและถ่ายท้องได้ดี ทั้งยังป้องกันถุงน้ำดีพิการได้อีกด้วย นอกเหนือจากสารอัลคาลอยด์ที่ให้รสขมนั้น ยังพบว่ามีสารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาราติน (Charatin) กับโปรตีนที่คล้ายอินซูลิน (Insulin)  ที่มีผลต่อการลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยไปกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน (Insulin) ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่ามะระขี้นกสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไลด์ในตับได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะกับผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน จากคุณสมบัติข้อนี้จึงเป็นที่มาของการนำมะระขี้นกไปใช้ประโยชน์เพื่อเป็นยารักษาโรคโดยนำมาสกัดเป็นผงบรรจุในแคปซูลเพื่อรับประทานเป็นยา

MRK2

ลักษณะสมุนไพร :
มะระขี้นกเป็นเป็นไม้เถาเลื้อยพันต้นไม้ชนิดอื่น มีมือเกาะเกี่ยวซึ่งเปลี่ยนมาจากใบ ลำต้นเป็นเหลี่ยม 5  เหลี่ยม  มีขนอ่อนๆปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกสลับลักษณะคล้ายใบแตงโมแต่มีขนาดเล็กกว่า มีสีเขียวทั้งใบ ขอบใบเว้าเป็นแฉกๆ หยักลึกเข้าไปในใบ 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร และยาว  3.5-10  เซนติเมตร  ดอกเป็นดอกเดี่ยวตามง่ามใบแยกเพศผู้เพศเมียในต้นเดียวกัน  มีสีเหลืองอ่อน มีกลีบนอกและกลีบในอย่างละ 5 กลีบ  ดอกตัวผู้เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย  เกสรมีสีเหลืองแก่ถึงส้ม กลีบดอกบาง ช้ำง่าย ผลเป็นผลเดี่ยว เมื่อโตเต็มที่มีรูปร่างคล้ายกระสวย มีผิวขรุขระ มีปุ่มยื่นออกมา ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองถึงส้ม เมื่อแก่จัดเต็มที่ปลายผลจะแตกออกเป็นแฉกๆ  มีเมล็ดสีแดงสด อยู่ภายใน รูปร่างกลมแบน
MRK3
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เถา, ใบ, ดอก, ผล และ เมล็ด 
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก แก้พิษ แก้ร้อน แก้บิดถ่ายเป็นเลือด รักษาแผลฝีบวมอักเสบและปวดฟัน
  2. เถา แก้ร้อน แก้พิษ รักษาฝีอักเสบ รักษาอาการปวดฟัน                                                         
  3. ใบ แก้โรคกระเพาะ แก้โรคบิด รักษาแผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ
  4. ดอก แก้โรคบิด
  5. ผล แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ ทำให้ตาสว่าง รักษาตาบวมแดง รักษาแผลบวมเป็นหนอง รักษาฝีอักเสบ
  6. เมล็ด แก้พิษ เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ

 MRK4

วิธีการใช้ :

  1. แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ รักษาตาบวมแดง รักษาแผลบวมเป็นหนอง รักษาฝีอักเสบ นำผลสดมาต้มรับประทาน หรือผิงไฟให้แห้ง แล้วบดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอก ตำคั้นเอาน้ำทาหรือพอก
  2. แก้พิษ เพิ่มพูนลมปราณ บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ นำเมล็ดแห้งประมาณ 3 กรัม มาต้มกับน้ำ แล้วดื่มน้ำที่ต้มเมล็ด
  3. แก้โรคกระเพาะ แก้โรคบิด รักษาแผลฝีบวมอักเสบ ขับพยาธิ นำใบสดๆ ต้มกับน้ำแล้วดื่ม หรือนำใบแห้งบดเป็นผงรับประทาน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้าง กอก หรือคั้นเอาน้ำทา
  4. แก้พิษ แก้ร้อน แก้บิดถ่ายเป็นเลือด รักษาแผลฝีบวมอักเสบและปวดฟัน นำรากสด ต้มกับน้ำดื่ม แล้วดื่มน้ำต้มราก หรือ ใช้ภายนอกโดยนำรากมาต้มแล้วเอาน้ำต้มชะล้างแผลฝีบวมอักเสบ
  5. แก้ร้อน แก้พิษ รักษาฝีอักเสบ รักษาอาการปวดฟัน นำเถาแห้ง ประมาณ 5-10 กรัม ต้มกับน้ำดื่ม ดื่มรับประทาน หรือใช้ภายนอก โดยต้มเอาน้ำชะล้าง หรือตำแล้วนำมาพอก                                                                                                             

 MRK5

ถิ่นกำเนิด :
มะระขี้นกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเขตร้อนของเอเซียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy