มะดูก

ชื่อสมุนไพร : มะดูก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ยายปลวก (สุราษฎร์ธานี), ไม้มะดูก (คนเมือง) และ บั๊กโค้ก (เขมร-สุรินทร์)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Siphonodon celastrineus Griff.
ชื่อสามัญ : Ivru Wood
วงศ์ : CELASTRACEAE

MDok4

มะดูกเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และการปักชำกิ่ง จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในดินทุกสภาพ ชอบดินร่วนที่ระบายน้ำได้ดี มีแสงแดดเต็มวัน เป็นพรรณไม้ที่มักพบขึ้นตามบริเวณป่าราบ ป่าโปร่งที่ค่อนข้างชื้น โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ที่ระดับความสูงไม่เกิน 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประโยชน์ของมะดูก ผลมะดูกสุก ใช้รับประทานได้ มีรสหวานกลิ่มหอม มีบ้างใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป

 MDok3

ลักษณะสมุนไพร :
มะดูกเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 20-35 เมตร แตกกิ่งก้านทึบ เรือนยอดมีลักษณะกลมทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมดำแตกเป็นร่องตามยาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างรีหรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบแถบเข้าหากัน ส่วนขอบใบเป็นหยักหรือจักเป็นซี่ฟันตื้นๆ จักห่างหรือแทบมองเห็นไม่ชัด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-9 นิ้ว แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนเป็นสีเขียวเข้ม เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวมะกอกหรือสีเขียวอมเทา อกดอกเป็นช่อกระจุกตามซอกใบ มีประมาณ 2-3 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยยาวประมาณ 5-11 มิลลิเมตร บางทีมีจุดสีน้ำตาลแดง ดอกเป็นสีขาวนวลหรือสีเหลืองอมส้ม กลีบดอกเป็นรูปไข่หรือรูปรี มี 5 กลีบ ซ้อนทับกัน มีขนาดกว้างประมาณ 1.7-2.5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2.2-3.5 มิลลิเมตร ปลายกลีบมน ส่วนกลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นรูปไจหรือกึ่งกลม ค่อนข้างมน ยาวได้ประมาณ 1-2 มิลลิเมตร กลางดอกมีเกสรเชื่อมติดกับกลีบดอกข้างใน ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้แบน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร เชื่อมติดกันที่ครึ่งหนึ่งหรือใกล้ๆ โคนดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปรี ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 นิ้ว และยาวประมาณ 1.5-3 นิ้ว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่หรือสุกเต็มที่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวอมเหลือง ภายในมีเมล็ดรูปไข่หลายเมล็ด เป็นผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์

 MDok2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ลำต้น และราก
สรรพคุณทางยา :

  1. ลำต้น ยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย
  2. ราก ยาบำรุงกระดูก ดับพิษในกระดูก ยารักษาโรคมะเร็ง ยาแก้พิษฝีภายใน ฝีในตับ ฝีในปอด ฝีในกระดูก ยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้ประดง น้ำเหลืองเสีย เข้าข้อออกดอก ยาแก้อาการปวดแสบปวดร้อน ยาแก้เส้นเอ็นพิการ ยาแก้อาการปวดกระดูกและข้อ

 MDok1

วิธีการใช้ :                                     

  1. ยาบำรุงกำลัง แก้อาการปวดเมื่อย  นำลำต้นมะดูก นำมาตากแห้งผสมกับลำต้นฮ่อสะพานควาย, ข้าวหลามดง, ตานเหลือง, มะตันขอ, ม้ากระทืบโรง, หัวยาข้าวเย็น, แก่นฝาง, โด่ไม่รู้ล้ม และเปลือกลำต้นนางพญาเสือโคร่ง นำมาต้มกับน้ำดื่ม
  2. ยาบำรุงกระดูก ดับพิษในกระดูก ยารักษาโรคมะเร็ง ยาแก้พิษฝีภายใน ฝีในตับ ฝีในปอด ฝีในกระดูก ยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน แก้ประดง น้ำเหลืองเสีย เข้าข้อออกดอก ยาแก้อาการปวดแสบปวดร้อน ยาแก้เส้นเอ็นพิการ ยาแก้อาการปวดกระดูกและข้อ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
มะดูกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy