มะกอกเกลื้อน

ชื่อสมุนไพร : มะกอกเกลื้อน
ชื่อเรียกอื่นๆ : มะเลื่อม (พิษณุโลก, จันทบุรี), มักเหลี่ยม (จันทบุรี), โมกเลื่อม (ปราจีนบุรี), มะเหลี่ยมหิน (มหาสารคาม), มะเกิ้ม (ภาคเหนือ), กอกกัน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), มะกอกเลื่อม (ภาคกลาง), มะกอกเลือด (ภาคใต้), มะกอกกั๋น (คนเมือง), มะเกิ้ม (ไทลื้อ), เกิ้มดง, เพะมาง สะบาง, ไม้เกิ้ม (ขมุ) และ ซาลัก (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canarium subulatum Guillaumin
ชื่อสามัญ : Kenari, Upi
วงศ์ : BURSERACEAE

MKKN5

มะกอกเกลื้อนเป็นขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ทนต่อแสงแดดได้ดี ชอบขึ้นในที่แล้ง ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค มักพบขึ้นตามบริเวณป่าไม้ผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ป่าดิบแล้ง และตามบริเวณป่าหญ้าหรือทุ่งหญ้าทั่วไป ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-1,200 เมตร ผลสดมีรสฝาดเปรี้ยวใช้รับประทานได้ มะกอกเกลื้อนจัดเป็นพืชป่าเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง ประชาชนสามารถเก็บผลมาขายได้ โดยการนำผลมาดองและแช่อิ่มแทนลูกหนามเลียบรับประทาน หรือจะใช้ผลแก่รับประทานเป็นผักร่วมกับน้ำพริกก็ได้ เนื้อในเมล็ดสีขาวมีรสมัน ใช้รับประทานได้ ยางสดใช้เป็นเครื่องหอม เนื้อไม้สามารถนำมาใช้ทำโครงสร้างต่างๆ ของบ้านได้ เช่น หน้าต่าง ประตู กระดาน พื้น ฝา เครื่องมือเครื่องใช้ภายในร่ม ทำก้านและกลัดไม้ขีดไฟ ทำพิณ ฯลฯ

 MKKN1

ลักษณะสมุนไพร :
มะกอกเกลื้อนเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ที่มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร เรือนยอดกลม ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ตามกิ่งมีแผลใบเห็นชัดเจน กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลอมส้มขึ้นหนาแน่น เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมเทาถึงเทาแก่ เปลือกต้นแตกเป็นสะเก็ดหรือแตกเป็นร่องตามยาว ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีน้ำตาลอ่อนมีขีดเส้นขาวๆ เมื่อสับจะมีน้ำยางสีขาวขุ่นหรือน้ำยางใส น้ำยางเมื่อแห้งจะเป็นสีน้ำตาลดำหรือสีดำ มีกลิ่นคล้ายน้ำมันสน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกเรียงเวียน มีใบย่อยประมาณ 2-5 คู่ ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่แกมวงรี รูปรีแกมรูปไข่ รูปไข่ รูปขอบขนาน หรือรูปหอก ปลายใบมนเป็นติ่งแหลมหรือเรียวแหลม โคนใบมนหรือเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบหยักเป็นซี่เลื่อยตื้นๆ ตามรอยหยักมีขนเป็นกระจุก มีหูใบแต่หลุดร่วงได้ง่าย แผ่นใบกึ่งหนา คล้ายแผ่นหนัง หลังใบด้านบนมีขนขึ้นประปรายที่เส้นกลางใบและขอบใบ ส่วนท้องใบด้านล่างมีขนสั้นๆ ขึ้นอยู่ทั่วไป ท้องใบมองเห็นเส้นใบได้ชัดเจน เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-15 เส้น ก้านใบรวมมีหูใบแคบ 1 คู่ ขนาดประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ส่วนใบแก่เป็นสีแดงเข้ม ดอกเป็นช่อเชิงลดตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกมีทั้งดอกสมบูรณ์เพศและดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียแยกกัน แต่อยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกเพศผู้จะยาวกว่าช่อดอกเพศเมีย ผลเป็นช่อ ช่อหนึ่งมีผลประมาณ 1-4 ผล ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่ รูปกลม หรือรูปกระสวย ผลอ่อนเป็นสีเหลือง เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนสีเขียวอมเหลือง

 MKKN2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ยาง, แก่น, ผล, เปลือกต้น และ ทั้งต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. ยาง แก้อาการคัน ตุ่มคันหรือเม็ดผื่นคัน
  2. ทั้งต้น ช่วยบำรุงร่างกายให้มีกำลังแข็งแรง
  3. ผล ยาแก้ไอ ยาช่วยขับเสมหะ น้ำลายเหนียว
  4. เปลือกต้น ยารักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟัน
  5. แก่น ยาแก้โลหิตระดูพิการ ยาแก้ประดง

 MKKN3

วิธีการใช้ :                                     

  1. ช่วยบำรุงร่างกายให้มีกำลังแข็งแรง นำทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. แก้อาการคัน ตุ่มคันหรือเม็ดผื่นคัน นำยางสดใช้เป็นยาทาภายนอกแก้อาการคัน ตุ่มคันหรือเม็ดผื่นคัน ยาแก้ไอ นำผลสดหรือผลแห้งนำมาต้มเอาน้ำกิน ส่วนอีกวิธีให้ใช้ผลแห้งนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำกินเป็นยาแก้ไอ
  3. ยาช่วยขับเสมหะ น้ำลายเหนียว นำผลสดหรือผลแห้งนำมาต้มเอาน้ำกิน หรือผลแห้งนำมาตำให้ละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำกิน
  4. ยารักษาโรคลักปิดลักเปิดหรือโรคเลือดออกตามไรฟัน นำเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  5. ยาแก้โลหิตระดูพิการ ยาแก้ประดง นำแก่นนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

 MKKN4

ถิ่นกำเนิด :
มะกอกเกลื้อนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy