บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ดอกปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้เปลือกไม้ปรุงยา

มะกอกน้ำ


ชื่อสมุนไพร : มะกอกน้ำ
ชื่อเรียกอื่นๆ : สมอพิพ่าย (ระยอง), สารภีน้ำ (ภาคกลาง) และ สีชัง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Elaeocarpus hygrophilus Kurz.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : ELAEOCARPACEAE



MKN2

มะกอกน้ำเป็นพรรณไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ชื้นหรือบริเวณริมน้ำ ในประเทศไทยพบได้มากในภาคกลาง โดยเฉพาะในพื้นที่ชุ่มชื้นและอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ ริมน้ำ ตามชายฝั่งทะเล ตามป่าโกงกาง ป่าพรุ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง นิยมปลูกต้นมะกอกน้ำไว้ตามริมร่องสวน เพื่อให้รากช่วยยึดดิน เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดินตามริมร่องสวน ปัจจุบันนิยมปลูกไว้เป็นไม้ผลยืนต้นทางเศรษฐกิจ เพราะมีผลผลิตที่สูงอย่างสม่ำเสมอ และขายได้ราคาดี แต่มีบ้างที่ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมกว้างและโปร่ง ออกดอกดกขาวเต็มต้น โดยผลมะกอกน้ำมีรสฝาดอมเปรี้ยวหวาน นำไปดอง เชื่อม แช่อิ่มหรือนำผลดิบมาจิ้มกับน้ำปลาหวานรับประทาน ผลแก่นิยมนำมาดองเป็นผลไม้แปรรูป ใช้รับประทานเป็นอาหารว่าง โดยคุณค่าทางโภชนาการของผลมะกอกน้ำในส่วนที่กินได้ ต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วย พลังงาน 86 แคลอรี่, น้ำ 75.8 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 22.3 กรัม ใยอาหาร 0.5 กรัม, โปรตีน 1 กรัม, วิตามินเอ 375 หน่วยสากล, วิตามินบี1 0.09 มิลลิกรัม, วิตามินบี2 0.05 มิลลิกรัม, วิตามินบี3 0.4 มิลลิกรัม, วิตามินซี 49 มิลลิกรัม, แคลเซียม 14 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 35 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 0.9 มิลลิกรัม ส่วนเมล็ดอาจนำมากลั่นได้น้ำมัน คล้ายกับน้ำมันโอลีฟ (Olive Oil) ของฝรั่ง

 MKN3

ลักษณะสมุนไพร :
มะกอกน้ำเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบแต่ไม่พร้อมกัน มีความสูงของต้นประมาณ 8-15 เมตร แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มโปร่ง มีรูอากาศเป็นแนวยาว เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบเป็นสีน้ำตาลมีรอยแตกเป็นร่องเล็กๆ ตื้นๆ ตามความยาวของลำต้น ตามกิ่งมีรอยแผลใบชัดเจน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับหนาแน่นที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปไข่กลับ หรือเป็นรูปแกมรูปใบหอก ปลายใบมนหรือป้าน โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ท้องใบและหลังใบเรียบ ผิวใบเป็นมันสีเขียวเข้ม ส่วนใบอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ก้านใบอ่อนเป็นสีออกแดงเข้ม ส่วนก้านใบแก่เป็นสีแดงอมสีน้ำตาล ยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อตามซอกใบ ช่อดอกยาวประมาณ 2-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นสีขาว ลักษณะห้องลงคล้ายระฆัง มีขนาดประมาณ 4-8 มิลลิเมตร ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกจักเป็นฝอยเล็กๆ ยาวประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวกลีบ ผลเป็นผลสดแบบมีเนื้อ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมรีหรือรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ปลายผลเรียวแหลม ผิวผลเรียบเป็นสีเขียว

 MKN4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล, เปลือกต้น และ ดอก
สรรพคุณทางยา :

  1. ผล ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ
  2. เปลือกต้น ฟอกเลือดหลังการคลอดบุตรของสตรี
  3. ดอก  แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ

 MKN1

วิธีการใช้ :

  1. ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ นำผลดองน้ำเกลือ รับประทานเป็นอาหารแทนมะกอกฝรั่ง
  2. ฟอกเลือดหลังการคลอดบุตรของสตรี นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  3. แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ คันดุจมีตัวไต่อยู่ บำรุงธาตุ นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
มะกอกน้ำเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 





.