ชื่อสมุนไพร : มะกอก
ชื่อเรียกอื่นๆ : กอกฤก, กูก, กอกหมอง (เงี้ยว-เชียงใหม่), กอกเขา (ใต้ทางนครศรีธรรมราช), กอก (ใต้), มะกอกดง, ไพแซ, มะกอกฝรั่ง, หมากกอก, กราไพ้ย, ไพ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะผร่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), มะกอกไทย (ไทลื้อ), มะกอกป่า (เมี่ยน), สือก้วยโหยว (ม้ง), ตุ๊ดกุ๊ก (ขมุ) และ ไฮ่บิ้ง (ปะหล่อง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias cytherea Sonn.
ชื่อสามัญ : Hog plum และ Wild Mango
วงศ์ : ANACARDIACEAE
มะกอกเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีผลรสเปรี้ยวอมหวานที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ดังนั้นการรับประทานผลมะกอกจึงทำให้ได้ประโยชน์ในด้านการเป็นยาฝาดสมานและช่วยแก้เลือดออกตามไรฟันได้ ผลสุกของมะกอกนิยมใช้เพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารอย่างส้มตำ พล่ากุ้ง หรือน้ำพริก ส่วนยอดอ่อนและใบอ่อนก็นิยมรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกปลาร้า เต้าเจี๊ยวหลน ลาบ ก้อย หรือแจ่วป่นต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากความอร่อยแล้วใบและยอดอ่อนยังมีสรรพคุณในด้านการแก้อาการหูอักเสบ แก้อาการปวดหู บำรุงธาตุ และแก้อาการปวดท้องได้ด้วย นอกจากนี้ส่วนอื่นๆของต้นอย่างเปลือก เมล็ด หรือรากก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ปวดท้อง แก้อาเจียน แก้สะอึก เป็นต้น
ลักษณะสมุนไพร :
มะกอกจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงประมาณ 15-25เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งมักห้อยลง ลำต้นเป็นท่อนกลม ตั้งตรง เปลือกลำต้นมีสีเทา หนา และมีรูอากาศตามลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับเป็นคู่ มีใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ก้านใบร่วมยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง ผิวใบหนา ด้านบนมัน ด้านล่างเรียบเกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว ลักษณะกลีบเป็นรูปรี ปลายแหลม ขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบเท่ากลีบดอก ลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ผลมะกอกมีลักษณะกลมรูปไข่ ฉ่ำน้ำ ขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมสีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน มีจุดประสีเหลืองและดำ รสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ดอยู่ภายใน เมล็ดเป็นเมล็ดเดี่ยว ขนาดใหญ่ แข็ง และขนแข็งที่เปลือกหุ้มเมล็ด มักพบต้นมะกอกตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าแดง และป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคของประเทศไทย เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะในดินร่วนซุยที่ชุ่มชื่น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล เปลือก ใบ ราก และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ผล บำบัดโรคธาตุพิการ แก้โรคบิด แก้กระหายน้ำ แก้โรคขาดแคลเซียมใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ดีพิการ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน(โรคลักปิดลักเปิด) และรักษาโรคกระเพาะอาหารพิการ
- ใบ แก้หูอักเสบ แก้อาการปวดหู บำรุงธาตุ และแก้อาการปวดท้องหรือท้องเสีย
- เปลือก บำรุงธาตุ ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ปวดมวนท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน และแก้สะอึก
- เมล็ด แก้ร้อนใน แก้หอบ และแก้สะอึก
- ราก แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยทำให้ชุ่มคอ และขับปัสสาวะ
วิธีการใช้ :
- แก้ปวดตามข้อ บดเปลือกให้เป็นผงละเอียด ผสมน้ำ ใช้ทาบริเวณที่ปวด
- แก้อาการผิดสำแดง แก้ร้อนใน แก้หอบ สะอึก นำเมล็ดมาเผาไฟ แช่น้ำ กรองเอาแต่น้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ปวดหู คั้นน้ำจากใบมะกอกแล้วใช้หยอดหู
- แก้เลือดออกตามไรฟัน ต้านอนุมูลอิสระ แก้ธาตุพิการ แก้บิด แก้ดีพิการ ทำให้ชุ่มคอ และแก้กระหาย รับประทานยอดอ่อนและใบเป็นอาหาร
ถิ่นกำเนิด :
มะกอกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศอินเดีย มาแลเซีย อินโดนีเซียรวมถึงประเทศไทยด้วย
.