ชื่อสมุนไพร : พุทธรักษา
ชื่อเรียกอื่นๆ : บัวละวงศ์ (ลำปาง), บัวละวง (ลพบุรี), พุทธศร (พายัพ), พุทธสร (ภาคเหนือ), สาคูหัวข่า,สาคูมอญ (ภาคกลาง), ปล้ะย่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), กวงอิมเกีย, เซียวปาเจีย, มุยหยิ่งเจีย (จีน), เหม่ยเหยินเจียว และ เสี่ยวปาเจียว (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Canna indica Linn.
ชื่อสามัญ : Indian Shot, India Short Plant, India Shoot, Butsarana, Cannas และ Canna Lily
วงศ์ : CANNACEAE
พุทธรักษาเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อและวิธีการเพาะเมล็ด ชอบดินเหนียวชุ่มชื้นและมีอินทรีย์วัตถุสูง หรือที่ระดับน้ำ 10-20 เซนติเมตร ชอบแสงแดดแบบเต็มวันถึงครึ่งวัน พุทธรักษาเป็นพันธุ์ไม้ที่มีการกระจายพันธุ์อยู่ในป่าเมืองไทยหลายชนิด โดยส่วนใหญ่มักจะพบขึ้นตามป่าดงดิบ ป่าดงดิบแล้งในที่ลุ่ม หรือตามลำห้วย นิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปตามริมสวนน้ำ ริมคูน้ำที่โล่งแจ้ง ตามร่องระบายน้ำ ริมถนนทางเดิน หรือปลูกลงในกระถางเพื่อประดับอาคารบ้านเรือนก็ได้ ดอกพุทธรักษาสามารถนำมาสกัดสีทำเป็นสีสำหรับย้อมผ้าได้ แต่จะติดสีไม่มากนักและสีไม่สด และนิยมใช้ตัดดอกปักแจกัน เหง้าสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลายแบบ เช่นเดียวกับเผือกและมัน
ลักษณะสมุนไพร :
พุทธรักษาเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน มีอายุหลายปี ขึ้นรวมกันเป็นกอและเป็นต้นเดี่ยวไม่แตกกิ่งก้านสาขา จะมีข้อแต่ค่อนข้างห่างกัน มีความสูงของลำต้นประมาณ 1.5-2.5 เมตร ลำต้นมีความเหนียวและอุ้มน้ำ มีเหง้าหัวสีขาวแตกแขนงอยู่ใต้ดิน ส่วนของลำต้นเทียมบนดินจะเกิดจากใบเรียงซ้อนเป็นลำตรงกลม ทั้งต้นไม่มีขนปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน รูปรีแกมขอบขนานกว้าง หรือเป็นรูปรียาว ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นสีเขียว สีแดง สีเขียวขลิบแดง หรือสีม่วงเข้ม ภายในเป็นสีอมม่วงแดง ดอกจะมีหลายสีด้วยกัน เช่น สีแดง สีแดงอมเหลือง สีส้ม สีเหลือง สีชมพู สีขาว ฯลฯ สามารถออกดอกได้คลอดปี โดยจะออกดอกเป็นช่อบริเวณปลายยอดของลำต้น ก้านช่อดอกยาว ช่อหนึ่งมีความยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ช่อดอกมีดอกย่อยหลายดอก ประมาณ 8-10 ดอก ช่อดอกมีรูปคล้ายทรงกระบอก ผลเป็นผลแห้ง ลักษณะเป็นรูปทรงกลม เป็นพู 3 พู ผลมีขนาดเท่ากับผลมะไฟ ผิวผลขรุขระ เปลือกนอกเป็นสีเขียวและมีขนหรือหนามอ่อนๆ คล้ายกับลูกละหุ่งหรือลูกเร่ว โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดสีขาวหลายเมล็ด พอแก่เป็นสีน้ำตาล มัน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เมล็ด, ดอก, เหง้า และ ใบ
สรรพคุณทางยา :
- เมล็ด แก้อาการปวดศีรษะ
- ดอก ยาช่วยสงบจิต ทำให้หัวใจสดชื่น ยาขับพิษร้อน ขับน้ำชื้นในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต
- เหง้า ยาขับเหงื่อปัสสาวะในอาการไข้และอาการบวมน้ำ แก้วัณโรค แก้อาการไอ ยาแก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด และไอมีเลือด ช่วยแก้อาการปวดฟัน ยาบำรุงปอด ยาแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้โรคบิด บิดเรื้อรัง ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ประจำเดือนมาไม่หยุดของสตรี ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ช่วยแก้โรคตับอักเสบ แก้ตับอักเสบติดเชื้อ ตับอักเสบอย่างเฉียบพลันแบบดีซ่าน มีอาการตัวเหลือง
- ใบ ช่วยแก้อาเจียน ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย
วิธีการใช้ :
- แก้อาการปวดศีรษะ นำเมล็ดนำมาบดให้เป็นผงใช้พอกบริเวณขมับแก้อาการปวดศีรษะ
- ยาช่วยสงบจิต ทำให้หัวใจสดชื่น ยาขับพิษร้อน ขับน้ำชื้นในร่างกาย ช่วยลดความดันโลหิต นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาขับเหงื่อปัสสาวะในอาการไข้และอาการบวมน้ำ แก้วัณโรค แก้อาการไอ ยาแก้อาเจียนเป็นเลือด กระอักเลือด และไอมีเลือด ช่วยแก้อาการปวดฟัน ยาบำรุงปอด ยาแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้โรคบิด บิดเรื้อรัง ช่วยแก้ประจำเดือนมาไม่เป็นปกติ ประจำเดือนมาไม่หยุดของสตรี ช่วยแก้อาการตกขาวของสตรี ช่วยแก้โรคตับอักเสบ แก้ตับอักเสบติดเชื้อ ตับอักเสบอย่างเฉียบพลันแบบดีซ่าน มีอาการตัวเหลือง นำเหง้าสดนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ช่วยแก้อาเจียน ช่วยแก้อาการจุกเสียด แก้ท้องเสีย นำใบมาต้มกับน้ำ รับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
พุทธรักษาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย แอฟริกา และอเมริกา
.