ชื่อสมุนไพร : พิกุล
ชื่อเรียกอื่นๆ : ซางดง (ลำปาง), พิกุลเขา พิกุลเถื่อน (นครศรีธรรมราช), พิกุลป่า (สตูล), แก้ว (ภาคเหนือ), กุน (ภาคใต้), ไกรทอง, ตันหยง, มะเมา, พกุล และ พิกุลทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi L.
ชื่อสามัญ : Asian Bulletwood, Bullet Wood, Bukal, Tanjong Tree, Medlar และ Spanish Cherry
วงศ์ : SAPOTACEAE
พิกุลเป็นพืชที่มีลักษณะของทรงต้นเป็นพุ่มใบทึบ มีความสวยงาม สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา หรือจะใช้ปลูกตามบริเวณลานจอดรถ ริมถนนก็ดูสวยงามเช่นกัน อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ดินดี ชอบแสงแดดจัด คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ สรรพคุณของดอกจะมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน มีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ช่วยลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อรา ต้านฮีสตามีน ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
พิกุลเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาล ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งก่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับกัน รูปไข่หรือรูปรี ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้นๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ส่วนท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวแคบ และหลุดร่วงได้ง่าย ดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง มีขนาดเล็กสีขาวนวล กลิ่นหอม และหลุดร่วงได้ง่าย มีกลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม โดยกลีบดอกจะสั้นกวากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 8 กลีบ ผลเป็นรูปไข่ถึงรี ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็งสีดำเป็นมัน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอกสด, ดอกแห้ง, ผลสุก, เปลือก, เมล็ด, ใบ, แก่นที่ราก และ กระพี้
สรรพคุณทางยา :
- ดอกสด แก้ท้องเสีย
- ดอกแห้ง เป็นยาบำรุงหัวใจ ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ
- ผลสุก แก้ปวดศีรษะ แก้โรคในลำคอและปาก
- เปลือก ยาอมกลั้วคอ ล้างปาก แก้เหงือกบวม รำมะนาด
- เมล็ด แก้โรคท้องผูก
- ใบ ฆ่าพยาธิ
- แก่นที่ราก บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับลม
- กระพี้ แก้เกลื้อน
วิธีการใช้ :
- แก้ท้องเสีย นำดอกสดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- บำรุงหัวใจ ปวดหัว เจ็บคอ ขับเสมหะ นำดอกแห้งมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือนำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำใบมาตำให้แหลกแล้วทาแก้เกลื่อนกลาก
- แก้ปวดศีรษะ แก้โรคในลำคอและปาก นำผลสุกมารับประทาน
- ยาอมกลั้วคอ ล้างปาก แก้เหงือกบวม รำมะนาด นำเปลือกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้โรคท้องผูก นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ฆ่าพยาธิ นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต ขับลม นำแก่นที่รากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้เกลื้อน นำกระพี้มาฝนกับน้ำ ทาบริเวณที่เป็น
ถิ่นกำเนิด :
พิกุลเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และในหมู่เกาะอันดามัน
.