ชื่อสมุนไพร : พะยอม
ชื่อเรียกอื่นๆ : แดน (เลย), ยางหยวก (น่าน), กะยอม, เชียง, เซียว, เซี่ย (เชียงใหม่), พะยอมทอง (ปราจีนบุรี, สุราษฎร์ธานี), ขะยอมดง, พะยอมดง (ภาคเหนือ), สุกรม (ภาคกลาง), คะยอม, ขะยอม (อีสาน), ยอม (ภาคใต้), ขะยอม (ลาว), พะยอมแดง, แคน และ พยอม
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea roxburghii G. Don
ชื่อสามัญ : Shorea และ White Meranti
วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE
พะยอมเป็นต้นไม้ที่ในประเทศไทยสามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้น หรือป่าดิบแล้งทั่วไป ทุกภาคของประเทศที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 60 – 1,200 เมตร และดอกพะยอมยังเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ด้วย จัดว่าเป็นต้นไม้ที่สวยโดยธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องทำการตัดแต่งกิ่งแต่อย่างใด ขยายพันธุ์วิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง ซึ่งในปัจจุบันพันธุ์ไม้ชนิดนี้กำลังเริ่มลดน้อยลงไปเรื่อยๆ คนไทยโบราณเชื่อว่า หากปลูกไว้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้คนในบ้านมีนิสัยที่อ่อนน้อม และยังช่วยทำให้ไม่ขัดสนเงินทองอีกด้วย โดยประโยชน์ของพะยอมมีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ไม้พะยอมจะมีสีเหลืองอ่อนถึงสีน้ำตาล สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทั่วๆไป เปลือกต้นสามารถใช้รับประทานกับใบพลูแทนหมาก อีกทั้งนำมาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ไว้ใส่ในกระบอกไม้ไผ่ ไว้ใช้รองน้ำตาลสดจากต้นมะพร้าว และน้ำตาลจากต้นตาลตะโหนด หรือนำมาใช้ใส่เครื่องหมักดองเพื่อกันบูดกันเสีย นอกจากนี้ยังมีสารแทนนินชนิด Pyrogallol และ Catechol ในปริมาณสูงจึงนิยมนำมาใช้อุตสาหกรรมฟอกหนัง ส่วนดอกอ่อนนั้นสามารถรับประทานสดหรือจะนำมาลวกเป็นผักไว้จิ้มกินกับน้ำพริก ใช้ผัดกับไข่ ชุบไข่ทอด หรือจะนำมารับประทานเป็นน้ำซุปร้อนๆ โดยนำมาแกงส้มก็ได้เช่นกัน
ลักษณะสมุนไพร :
พะยอมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เส้นผ่าศุนย์กลางของลำต้นอาจยาวถึง 300 เซนติเมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลหรือสีเทาเข้ม แตกเป็นร่องตามยาวและเป็นสะเก็กหนา ส่วนเนื้อไม้มีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ใบเป็นรูปมนรี ผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม ขอบเรียบเป็นคลื่น ด้านหลังใบจะมีเส้นใบมองเห็นชัดเจน ใบมีความยาวประมาณ 12-18 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 6-8 เซนติเมตร ดอกเป็นช่อใหญ่ ออกดอกตามส่วนยอดของต้น ดอกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม ดอกมีกลีบ 3 กลีบ กลีบดอกเรียบโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร โคนกลีบดอกติดกับก้านดอกมีลักษณะกลม ผลแห้งมีปีกแบบ Samara ลักษณะเป็นทรงไข่และกระสวย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซ่อนตัวอยู่ในกระพุ้ง โคนปีกมีปีก 5 ปีก ประกอบด้วยปีกยาวรูปขอบขนาน 3 ปีก ยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเส้นตามยาวของปีกประมาณ 10 เส้น และปีกสั้นมี 2 ปีก มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร ในผลมีเมล็ดหนึ่งเมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก และ เปลือกต้น
สรรพคุณทางยา :
- ดอก แก้ไข้ ยาหอมไว้แก้ลม บำรุงหัวใจ
- เปลือกต้น สมานแผลลำไส้ แก้ท้องเดิน ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ สมานบาดแผล ชำระบาดแผล
วิธีการใช้ :
- แก้ไข้ ยาหอมไว้แก้ลม บำรุงหัวใจ นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- สมานแผลลำไส้ แก้ท้องเดิน ช่วยแก้อาการท้องร่วง ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- สมานบาดแผล ชำระบาดแผล นำเปลือกต้นนำมาฝนแล้วทาบริเวณบาดแผล
ถิ่นกำเนิด :
พะยอมเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและเอเชีย เช่น ประเทศพม่า ลาว ศรีลังกา และฟิลิปปินส์
.