ชื่อสมุนไพร : พลับพลึง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ลิลัว (ภาคเหนือ), ว่านชน (อีสาน), วิรงรอง (ชวา), พลับพลึงขาว และ พลับพลึงดอกขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crinum asiaticum L.
ชื่อสามัญ : Crinum Lily, Cape Lily, Poison Bulb และ Spider Lily
วงศ์ : AMARYLLIDACEAE
พลับพลึงเป็นพืชที่มีกลิ่นหอมโดยนิยมนำมาปลูกเพื่อประดับสวน ซึ่งพบว่ามีการปลูกตามริมสวนเป็นจุดเด่นและจุดพักสายตาและชวนมองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้ปลูกตามริมตลิ่งจะดูเข้ากันได้ดีกับลำน้ำ หรือนำมาปลูกเป็นแถวบริเวณเกาะกลางถนนก็จะดูสวยงามไปอีกแบบ นอกจากนี้ต้นที่มีขนาดใหญ่จะใช้ในการแกะสลักเพื่อตกแต่งในงานพิธีสำคัญต่างๆ และดอกนำมาใช้ประดับทั่วไปทั้งช่อดอกไม้ พวงหรีด เป็นต้น นอกเหนือจากคุณประโยชน์ด้านการประดับตกแต่งแล้ว ยังพบอีกว่านักวิจัยชาวสหรัฐได้ค้นพบสารชนิดหนึ่งที่อยู่ในต้นพลับพลึง นั่นก็คือ สารไซโคลพามีน โดยสามารถสกัดเพื่อช่วยยับยั้งการทำงานของโปรตีนชนิดหนึ่งที่ถือเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งได้ สารชนิดนี้ทดลองในหนูสามารถทำให้ก้อนเนื้อที่เกิดจากโรคมะเร็งของหนูมีขนาดลดลง อีกทั้งยังเชื่อว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งในตับอ่อน กระเพาะอาหาร หลอดอาหารและท่อส่งน้ำดีได้ด้วย รวมไปถึงยังมีสรรพคุณทางยามากมายที่ใช้รักษาโรคต่างๆ แต่ต้องระวังว่าอย่าไปรับประทานหัวพลับพลึงเนื่องจากจะมีสารพิษที่ทำให้เกิดอาการอาเจียน และมีผลระคายเคืองเยื่อบุกระเพาะอาหารได้
ลักษณะสมุนไพร :
พลับพลึงเป็นไม้ล้มลุกที่ขึ้นเป็นกอและมีหัวอยู่ใต้ดิน ลำต้นมีลักษณะกลมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12-15 เซนติเมตร และมีความสูงประมาณ 90-120 เซนติเมตร ใบจะมีสีเขียวโดยออกรอบๆ ลำต้น มีลักษณะของใบแคบและเรียวยาว ขอบใบจะเป็นคลื่น ปลายใบแหลม ใบค่อนข้างหนาอวบน้ำ ใบมีความกว้างประมาณ 10-15 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 60-90 เซนติเมตร ดอกจะออกเป็นช่อใหญ่ ดอกมีกลิ่นหอม ตรงปลายจะเป็นกระจุกในแต่ละช่อมีดอกประมาณ 12-40 ดอก ก้านดอกชูขึ้นจากตรงกลางลำต้น มีความยาวประมาณ 90 เซนติเมตร และสูงราว 90-120 กลีบดอกมีสีขาวแคบเรียวยาวประมาณ 15 เซนติเมตร หนึ่งดอกมีกลีบ 6 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะโค้งเข้าหาด้านดอก มีเกสรตัวผู้มี 6 ด้าน ชูสูงขึ้นจากดอกที่ปลายเกสรมีลักษณะเรียวแหลมยาวและมีสีแดง และจะทยอยออกดอกเรื่อยๆ โคนเป็นสีขาว ส่วนอับเรณูนั้น จะเป็นสีน้ำตาล ผลมีสีเขียวอ่อน ลักษณะของผลค่อนข้างกลม
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ราก พอกแผลรักษาพิษ
- ใบ รักษาอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ คลายเส้น แก้อาการฟกช้ำปวดบวม ยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะและน้ำดีต่อต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโปลิโอและโรคหัด
- เมล็ด ขับเลือดประจำเดือน
วิธีการใช้ :
- พอกแผลรักษาพิษ นำรากมาตำแล้วนำมาพอกแผลหรือรักษาพิษ
- รักษาอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้ออักเสบ คลายเส้น แก้อาการฟกช้ำปวดบวมยาบำรุงกำลัง ขับเสมหะ เป็นยาระบาย ทำให้คลื่นเหียนอาเจียน รักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะและน้ำดีต่อต้านไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคโปลิโอและโรคหัด นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ช่วยให้มดลูกเข้าที่อยู่ตัว น้ำคาวปลาแห้ง ขจัดไขมันส่วนเกิน และขับของเสียต่างๆออกจากร่างกาย นำใบมาประคบหน้าท้องเหมาะกับคุณแม่ที่เพิ่งคลอด หรืออยู่ไฟ
- ขับเลือดประจำเดือน นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
พลับพลึงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบทวีปเอเซีย ได้แก่ ประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง
.