ชื่อสมุนไพร : พญามุตติ
ชื่อเรียกอื่นๆ : หญ้าจามหลวง (เชียงใหม่), พญามุติ (สุพรรณบุรี), กาดน้ำ และ กาดนา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Grangea maderaspatana (Linn.) Poir.
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : COMPOSITAE
พญามุตติเป็นพรรณไม้ล้มลุก ซึ่งมักพบและชอบขึ้นตามที่ชื้น และตามทุ่งนาทั่วๆไป มีการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ดอกมักจะออกในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โดยข้อมูลทางเภสัชวิทยาของพญามุตติ พบว่า สารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้นพญามุตติ มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ต้านเชื้อบิด ลดการบีบตัวของลำไส้ กระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในสัตว์ทดลอง และมีการทดลองในสตรีมีครรภ์พบว่ากระตุ้นการบีบตัวของมดลูกซึ่งอาจทำให้แท้งได้ นอกจากนี้จากการทดสอบความเป็นพิษของสารสกัดแอลกอฮอล์จากทั้งต้นพญามุตติ พบว่ามีความเป็นพิษปานกลางด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
พญามุตติเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุฤดูเดียว มักแตกกิ่งก้านมากบริเวณโคนต้น ลำต้นมีลักษณะชูขึ้นสูงได้ประมาณ 10-55 เซนติเมตร หรือทอดนอนเลื้อยแผ่ไปตามพื้นดิน ที่ผิวจะมีขนนุ่มสีขาวและมีต่อม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปหอกกลับถึงรูปไข่กลับ ปลายใบแหลมหรือเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบแคบเรียว ส่วนขอบใบจักเว้าลึกข้างละประมาณ 3-4 หยัก ไม่เป็นระเบียบ แต่ละหยักนั้นค่อนข้างมน แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน เนื้อใบอวบ ผิวใบมีขนนุ่มทั้งสองด้าน ไม่มีก้านใบ มีส่วนเนื้อใบแผ่เป็นปีก ดอกเป็นดอกเดี่ยว ดอกย่อยเป็นกระจุกแน่นสีเหลือง ออกเดี่ยวๆ ตรงปลายยอดตรงข้ามกับใบ รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลางช่อดอกมีขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ก้านดอกมีขนนุ่มเป็นสีขาว ดอกย่อยมีจำนวนมาก โดยดอกเพศเมียจะเรียงกันเป็นชั้นวงนอกหลายวง มีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อน ปลายแยกออกเป็นแฉกเล็กน้อย 2 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร เกสรเพศเมีย รังไข่รูปรี สีเขียว ผิวด้านนอกมีขนต่อม ปลายยอดเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร ส่วนดอกสมบูรณ์เพศจะเรียงกันเป็นชั้นวงใน กลีบดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองสด ปลายแยกออกเป็นแฉก 5 แฉก แต่ละแฉกยาวประมาณ 0.1-0.3 มิลลิเมตร มีเฉพาะดอกรูปหลอด กลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดที่ฐาน ยาวประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านนอกมีขนต่อม ผลแห้ง เมล็ดล่อน มีเมล็ดยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปทรงกระบอกกลม
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ทั้งต้น, ราก และ ใบ
สรรพคุณทางยา :
- ทั้งต้น ยาช่วยบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยระงับประสาท ยาขับลมในลำไส้ รักษาอาการท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาแก้อาการท้องร่วง ยาขับระดูของสตรี แก้โรคอีสุกอีใส แก้อาการปวดบวม
- ราก แก้โรคอีสุกอีใส
- ใบ ยารักษาอาการไอ รักษาอาการหูเจ็บ รักษาอาการปวดท้อง และเป็นยาระบาย ขับระดูและแก้ฮีสทีเรีย ยาฆ่าเชื้อโรค ใช้เป็นยาปฏิชีวนะชำระบาดแผล
วิธีการใช้ :
- ยาช่วยบำรุงธาตุ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยระงับประสาท ยาขับลมในลำไส้ รักษาอาการท้องขึ้น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาแก้อาการท้องร่วง ยาขับระดูของสตรี แก้โรคอีสุกอีใส แก้อาการปวดบวม นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำมาตำพอกแก้อาการปวดบวม
- แก้โรคอีสุกอีใส นำรากใช้ตำพอกหรือทาแก้โรคอีสุกอีใส
- ยารักษาอาการไอ รักษาอาการหูเจ็บ รักษาอาการปวดท้อง และเป็นยาระบาย ขับระดูและแก้ฮีสทีเรีย ยาฆ่าเชื้อโรค ใช้เป็นยาปฏิชีวนะชำระบาดแผล นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำมาตำพอกแผล
ถิ่นกำเนิด :
พญามุตติเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.