ฝอยทอง

ชื่อสมุนไพร : ฝอยทอง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ฝอยไหม (นครราชสีมา), ผักไหม (อุดรธานี), ซิกคิบ่อ, ทูโพเคาะกี่ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), เครือคำ (ไทใหญ่, ขมุ), บ่ะเครือคำ (ลั้วะ), กิมซีเช่า, โท้วซี (จีนแต้จิ๋ว), ทู่ซือ และ ทู่ซือจื่อ (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cuscuta chinensis Lam.
ชื่อสามัญ : Dodder
วงศ์ : CUSCUTACEAE

FTG1

ฝอยทองจัดเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้ที่ต้องการความชื้นในปริมาณมาก มักพบขึ้นตามบริเวณพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้นทั่วไป ตามสวน เรือนเพาะชำ ริมถนน พื้นที่รกร้างทั่วไป ในวงศ์เดียวกันยังมีฝอยทองอีกหลายชนิด คือ ฝอยทองยุโรป หรือในภาษาจีนเรียกว่า “โอวโจทู่ซือ” ฝอยทองดอกใหญ่ หรือในภาษาจีนกลางเรียกว่า “ต้าฮวาทู่ซือ” ฝอยทองใหญ่ หรือในภาษาจีนเรียกว่า “กิมเต็งติ๊ง” และ “ต้าทูซือ” ซึ่งในแต่ละนิดจะมีสรรพคุณที่ใกล้เคียงกัน และสามารถนำมาใช้แทนกันได้ ประโยชน์ของฝอยทอง คือ ลำต้นนำมาต้มหรือลวกรับประทานเป็นอาหาร ใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก ใช้ยำใส่มะเขือ หรือนำมาชุบแป้งทอดรับประทานร่วมกับน้ำพริกกะปิ

 FTG2

ลักษณะสมุนไพร :
ฝอยทองเป็นพรรณไม้จำพวกกาฝากขึ้นเกาะ ดูดน้ำกินจากต้นไม้อื่น มีอายุประมาณ 1 ปี ลำต้นมีลักษณะเป็นเส้นกลม อ่อน แตกกิ่งก้านสาขามากเป็นเส้นยาว มีสีเหลืองทอง ยาวประมาณ 100 เซนติเมตร และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร ลักษณะของใบเป็นเกล็ดขนาดเล็กๆ รูปสามเหลี่ยม มีจำนวนไม่มาก ออกดอกเป็นช่อ ดอกย่อยมีจำนวนมาก ไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก รูปกลมรี ดอกมีขนาดเล็ก ดอกเป็นสีขาว กลีบดอกยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร กลีบดอกที่โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ส่วนปลายกลีบดอกมน แยกออกเป็น 5 แฉก กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน และเกสรเพศเมีย 2 อัน ลักษณะของผลเป็นรูปกลมแบน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร เป็นสีเทา ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดค่อนข้างกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร เมล็ดเป็นสีเหลืองอมเทา ผิวเมล็ดหยาบ

 FTG3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ทั้งต้น และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :

  1. ทั้งต้น แก้อาการร่างกายอ่อนเพลีย ยาแก้โรคดีซ่าน และแก้พิษ แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ตาแดงหรือเจ็บตา ยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล อุจจาระเป็นเลือด ตกเลือด ยาแก้บิด รักษาลำไส้อักเสบ เป็นบิดแบคทีเรีย ยาถ่ายพยาธิ ช่วยแก้ปัสสาวะขัด แก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ช่วยรักษาระดูขาวตกมากผิดปกติ และน้ำกามเคลื่อน แก้ผดผื่นคัน ผดผื่นคันจากอากาศร้อน แผลเรื้อรัง และใช้ห้ามเลือด แก้อาการตัวบวม
  2. เมล็ด บำรุงกำลัง ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยทำให้ตาสว่าง แก้ตามัว แก้อาการเวียนศีรษะ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ยาขับลม ขับเหงื่อ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ช่วยรักษาระดูขาวตกมากผิดปกติ ช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม แก้น้ำกามเคลื่อน ยาบำรุงตับ บำรุงไต

 FTG4

วิธีการใช้ :

  1. แก้อาการร่างกายอ่อนเพลีย นำลำต้นแห้งประมาณ 10-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าหรือน้ำตาลทรายแดงกินเป็นยา
  2. ยาแก้โรคดีซ่าน และแก้พิษ นำลำต้นนำมาต้มกับน้ำอาบรักษาอาการตัวเหลืองจากโรคดีซ่าน
  3. แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้ตาแดงหรือเจ็บตา นำลำต้นสด นำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาน้ำ ใช้เป็นยาทารอบๆ ขอบตา
  4. ยาแก้อาเจียนเป็นเลือด ไอเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล อุจจาระเป็นเลือด ตกเลือด ยาแก้บิด รักษาลำไส้อักเสบ เป็นบิดแบคทีเรีย แก้อาการตัวบวม นำลำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  5. ช่วยแก้ปัสสาวะขัด นำลำต้นสดประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับเหง้ากูไฉ่สด ประมาณ 60 กรัม แล้วนำมาใช้ล้างหน้าท้องน้อย
  6. แก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ช่วยรักษาระดูขาวตกมากผิดปกติ และน้ำกามเคลื่อน นำลำต้นแห้งประมาณ 10-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำผสมกับเหล้าหรือน้ำตาลทรายแดงกินเป็นยา
  7. ผดผื่นคัน ผดผื่นคันจากอากาศร้อน แผลเรื้อรัง และใช้ห้ามเลือด นำลำต้นนำมาตำให้ละเอียด คั้นเอาน้ำทาหรือพอกบริเวณที่เป็น
  8. บำรุงกำลัง ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยทำให้ตาสว่าง แก้ตามัว แก้อาการเวียนศีรษะ ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ยาขับลม ขับเหงื่อ แก้ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ช่วยรักษาระดูขาวตกมากผิดปกติ ช่วยบำรุงน้ำอสุจิในเพศชาย แก้สมรรถภาพทางเพศชายเสื่อม แก้น้ำกามเคลื่อน ยาบำรุงตับ บำรุงไต นำเมล็ดแห้งประมาณ 10-15 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือนำมาบดให้ละเอียดทำเป็นยาเม็ดหรือทำเป็นยาผงรับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
ฝอยทองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy