ผักบุ้งทะเล

ชื่อสมุนไพร : ผักบุ้งทะเล
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักบุ้งต้น, ผักบุ้งขน (ไทย), ผักบุ้งเล (ภาคใต้), ละบูเลาห์ (มะลายู-นราธิวาส) และ หม่าอานเถิง (จีนกลาง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ipomoea pes-caprae (Linn.) Sweet.
ชื่อสามัญ : Goat’s Foot Creeper และ Beach Morning Glory
วงศ์ : CONVOLVULACEAE
PBTL1
ผักบุ้งทะเลเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี มักขึ้นตามหาดทรายหรือริมทะเล พืชชนิดหนึ่งที่ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดและตัดลำต้นปักชำ สรรพคุณของใบผักบุ้งทะเลมีสารที่สามารถระเหยได้ และยังมีฤทธิ์ในการรักษาอาการแพ้จากพิษของแมงกะพรุน ที่ทำให้ผิวหนังเป็นแผลไหม้พอง เป็นผื่นแดง และมีอาการคันได้ เนื่องจากจะพบสารจำพวก Volatile ester ซึ่งจะมีฤทธิ์เป็น Antihistaminic-like จากการทดสอบฤทธิ์ต่อต้านฮีสตามีน (สารที่ทำให้เกิดอาการแพ้) ด้วยการใช้สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเล นำไปทดลองกับลำไส้ที่ถูกกระตุ้นด้วยฮีสตามีนและพิษจากแมงกะพรุน พบว่าสามารถช่วยต้านฤทธิ์ทั้งสองได้ และเมื่อได้มีการทำครีมขึ้นโดยใช้สารสกัดจากใบผักบุ้งทะเลด้วยอีเธอร์ 1% ก็สามารถช่วยรักษาพิษของแมงกะพรุนได้โดยสารที่มีฤทธิ์ต้านพิษแมงกะพรุน ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรผักบุ้งทะเล ก็คือ ยางจากต้นหรือใบมีพิษห้ามรับประทาน เพราะจะทำให้เมา วิงเวียน และคลื่นไส้ได้

 PBTL3

ลักษณะสมุนไพร :
ผักบุ้งทะเลเป็นไม้ล้มลุกมีอายุหลายปี มีลำต้นทอดเลื้อยไปตามพื้นดิน สามารถเลื้อยไปได้ยาวมาก ประมาณ 5-30 เมตร ลักษณะของลำต้นหรือเถากลมเป็นสีเขียวปนแดง หรือเป็นสีแดงอมม่วง ผิวเกลี้ยงลื่น ตามข้อจะมีรากฝอย ภายในกลวง ทั้งต้นและใบมียางสีขาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปกลม รูปไข่ รูปไต หรือรูปเกือกม้าม ปลายใบเว้าบุ๋มเข้าหากัน โคนใบสอบแคบเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ เส้นใบเป็นแบบขนนก เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบมันเป็นสีเขียว หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาวมีสีแดง ดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามง่ามใบ ในช่อดอกจะมีดอกประมาณ 2-6 ดอก และจะทยอยบานทีละดอก ลักษณะของดอกเป็นรูปปากแตร โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ส่วนปลายดอกบานเป็นรูปปากแตร มี5 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกกลมรี แตกออกเป็นแฉก 5 แฉก ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ดอกเป็นสีม่วงอมชมพู สีม่วงอมแดง สีชมพู หรือเป็นสีม่วง ผิวเกลี้ยง ด้านในของดอกส่วนโคนจะมีสีเข้มกว่าด้านนอก ส่วนกลีบดอกเลี้ยงเป็นสีเขียว ผลเป็นรูปมนรีหรือรูปไข่มีเหลี่ยม คล้ายแคปซูล ผิวผลเรียบ พอผลแห้งจะแตกออกได้ มีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม เป็นสีเหลือง มีขนสีน้ำตาลปกคลุม

 PBTL2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ทั้งต้น, ใบ และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้โรคเท้าช้าง ปวดฟัน ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง แก้พิษแมงกระพรุนไฟ แก้แพ้พิษต่างๆ
  2. ทั้งต้น แก้อาการอักเสบจากพิษแมงกระพรุนไฟ ถอนพิษลมเพลมพัด แก้โรคคันตามผิวหนัง
  3. ใบ เป็นยาพอก รักษาโรคผิวหนัง แก้ปวดไขข้อบวมอักเสบมีหนอง ถอนพิษ
  4. เมล็ด ป้องกันโรคตะคริว

 PBTL4

วิธีการใช้ :

  1. ขับปัสสาวะในโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แก้โรคเท้าช้าง ปวดฟัน ผดผื่นคันมีน้ำเหลือง แก้พิษแมงกระพรุนไฟ แก้แพ้พิษต่างๆ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำรากสด 1 ราก นำมาฝนกับน้ำฝนให้ข้นๆ อาจใช้เหล้าโรงหรือแอลกอฮอล์ผสมด้วยจะได้ผลดี ใช้ทาบ่อยๆ
  2. แก้อาการอักเสบจากพิษแมงกระพรุนไฟ ถอนพิษลมเพลมพัด แก้โรคคันตามผิวหนัง นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำมาต้มน้ำอาบ
  3. เป็นยาพอก ต้มอาบรักษาโรคผิวหนัง แก้ปวดไขข้อบวมอักเสบมีหนอง ถอนพิษ นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำมาต้มน้ำอาบรักษาโรคผิวหนัง หรือ นำมาตำแล้วพอก
  4. ป้องกันโรคตะคริว นำเมล็ดมารับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
ผักบุ้งทะเลเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy