บุนนาค

ชื่อสมุนไพร : บุนนาค
ชื่อเรียกอื่นๆ : สารภีดอย (เชียงใหม่), ก๊าก่อ, ก้ำก่อ (แม่ฮ่องสอน), ปะนาคอ, ประนาคอ (ปัตตานี), นาคบุตร, นากบุต, รากบุค (ภาคใต้) และ ต้นนาค
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mesua ferrea  L.
ชื่อสามัญ : Iron Wood  และ Indian Rose Chestnut
วงศ์ : GUTTIFERAE

BN2

บุนนาคเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดพิจิตร คนไทยโบราณเชื่อว่าหากปลูกเป็นไม้ประจำบ้าน จะช่วยทำให้เป็นผู้มีความประเสริฐและมีบุญ และคำว่านาคยังหมายถึง พญานาคที่มีแสนยานุภาพที่จะช่วยปกป้องคุ้มครองภัย เนื่องจากใบของบุนนาคสามารถช่วยรักษาพิษต่างๆ ได้ โดยจะนิยมปลูกต้นบุนนาคไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน พืชชนิดนี้พบได้มากในป่าดิบชื้น ตามลำธารหรือริมห้วย โดยยอดอ่อนสามารถนำมาใช้เป็นผักสดหรือจะนำมายำหรือแกงก็ได้เช่นกัน ส่วนดอกสามารถนำมาใช้กลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหยนำมาใช้ในการอบเครื่องหอมได้เป็นอย่างดีและยังใช้ในการแต่งกลิ่นสบู่ อีกทั้งเปลือกลำต้นนำมาบดเป็นผงใช้แต่งกลิ่นธูป นอกจากนี้เมล็ดมีน้ำมันที่กลั่นได้ใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางต่างๆ และนำมาใช้จุดตะเกียงให้มีกลิ่นหอมอีกด้วย

 BN3

ลักษณะสมุนไพร :
บุนนาคเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-25 เมตร ทรงยอดพุ่มทึบและแคบ ไม้ไม่ผลัด เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเข้ม มีรอยแตกตื้นๆ น้ำยางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน รูปหอก ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะปราง โคนใบสอบ แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุมอยู่ ใบอ่อนจะมีสีชมพูออกแดง ส่วนใบแก่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้ม มีเส้นใบข้างมากแต่ไม่เห็นชัด ใบห้อยลงเป็นพู่ ดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หัวกลับ ปลายบานและเว้า โคนสอบ ปลายกลีบย่นเล็กน้อย ดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน มีสีเหลืองส้มและเป็นฝอย ส่วนอับเรณูเป็นสีส้ม มีรังไข่ 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม ผลเป็นรูปไข่ ส่วนปลายโค้งแหลม ปลายไม่แตก เปลือกผลมีรอยด่างสีน้ำตาล ผลมีสีส้มแก่หรือมีสีม่วงน้ำตาล มีเปลือกเป็นเส้นใยห่อหุ้มอยู่ และมีหยดยางเหนียงที่ฐาน ภายในผลมีเมล็ด 1-4 เมล็ด ส่วนเมล็ดแบนและแข็ง มีสีน้ำตาลเข้ม

 BN4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอกแห้ง, ผล, ใบ, แก่น, ราก, เปลือก และ กระพี้
สรรพคุณทางยา :

  1. ดอกแห้ง  บำรุงหัวใจ เป็นยาขับเสมหะบำรุงโลหิต แก้ร้อนกระสับกระส่าย แก้ลมกองละเอียด แก้หน้ามืดวิงเวียนใจสั่น อ่อนเพลีย หัวใจหวิว ชูกำลัง
  2. ผล ขับเหงื่อ
  3. ใบ  รักษาบาดแผลสด แก้พิษงู
  4. แก่น แก้เลือดออกตามไรฟัน
  5. ราก ขับลมในลำไส้
  6. เปลือก  ฟอกน้ำเหลือง กระจายหนอง
  7. กระพี้ แก้เสมหะในคอ

 BN1

วิธีการใช้ :

  1. บำรุงหัวใจ เป็นยาขับเสมหะบำรุงโลหิต แก้ร้อนกระสับกระส่าย แก้ลมกองละเอียด แก้หน้ามืดวิงเวียนใจสั่น อ่อนเพลีย หัวใจหวิว ชูกำลัง นำดอกแห้งมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. ขับเหงื่อ ฝาดสมาน นำผลมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  3. รักษาบาดแผลสด แก้พิษงู นำใบมาตำแล้วพอกบริเวณแผล
  4. แก้เลือดออกตามไรฟัน นำแก่นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  5. ขับลมในลำไส้ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  6. ฟอกน้ำเหลือง กระจายหนอง นำเปลือกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  7. แก้เสมหะในคอ นำกระพี้มาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
บุนนาคเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา อินโดจีน พม่า ไทย คาบสมุทรมาเลเซีย และสิงค์โปร์

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy