ชื่อสมุนไพร : น้ำใจใคร่
ชื่อเรียกอื่นๆ : เคือขนตาช้าง (ศรีสะเกษ), ควยเซียก (นครราชสีมา), อีทก, เยี่ยวงัว (อุบลราชธานี), กระดอกอก (สุพรรณบุรี), กระทอกม้า (ราชบุรี), กะหลันถอก (กาญจนบุรี), หญ้าถลกบาตร (พิษณุโลก, อุตรดิตถ์), ส้อท่อ (ทุ่งสง-นครศรีธรรมราช), กระทอก, ชักกระทอก (ประจวบคีรีขันธ์), ควยถอก (ชุมพร), กะเดาะ, กระเดาะ (สงขลา), ผักรูด (สุราษฎร์ธานี), เจาะเทาะ (พัทลุง, สงขลา), เสาะเทาะ (สงขลาตอนใน เช่น หาดใหญ่ คลองหอยโข่ง), นางจุม, นางชม (ภาคเหนือ),ลูกไข่แลน (ภาคใต้บางแห่ง), กระเด๊าะ, อาจิง (มลายู-นราธิวาส), อังนก, สอกทอก, จากกรด และ ผักเยี่ยวงัว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Olax psittacorum (Willd.) Vahl
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : OLACACEAE
น้ำใจใคร่เป็นเป็นพรรณไม้ที่ชอบขึ้นตามดินปลวก ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยเฉพาะในจังหวัดสระบุรี จันทบุรี พิษณุโลก ลำพูน และจังหวัดเชียงใหม่ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าชายหาด ป่าละเมาะ ที่กรร้าง และป่าดิบเขาทั่วไป ที่ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 300 เมตร ลักษณะของผลน้ำใจใคร่นี้ ชาวบ้านจะใช้เป็นตัวตรวจสอบด้วยว่าปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีจะมีมากน้อยเพียงใด กล่าวคือ ถ้าปีไหนผลน้ำใจใคร่มีกลีบเลี้ยงหุ้มมากจนเกือบมืดผล นั่นแสดงว่าปีนั้นน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้ากลีบเลี้ยงหุ้มผลสั้นหรือมีน้อย ผลโผล่ออกมามาก ก็แสดงว่าปีนั้นฝนจะตกน้อย ยอดอ่อนและใบอ่อนมีรสหวานมันและฝาดเล็กน้อย ใช้เป็นผักแกงส้ม แกงเลียง หรือใช้เป็นผักแนม จิ้มกับน้ำพริกรับประทาน ส่วนผลสุกสามารถรับประทานได้เช่นกัน
ลักษณะสมุนไพร :
น้ำใจใคร่เป็นไม้เถาหรือไม้พุ่มรอเลื้อย มีความสูงได้ประมาณ 2-5 เมตร มีกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นเป็นสีเขียวเข้มหรือสีขาวอมน้ำตาล แตกเป็นแนวยาวห่างๆ กัน กิ่งมักห้อยลง ตามกิ่งอ่อนมีขนละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุม มักมีหนามแข็งเล็กๆ ทั่วไป ส่วนกิ่งแก่เกือบเกลี้ยง มีหนามโค้ง ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาวนวล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี รูปขอบขนานแกมใบหอก หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้าเล็กน้อย สองข้างไม่เท่ากัน ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบเรียบหนาคล้ายแผ่นหนัง หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ดอกเป็นช่อกระจุก โดยจะออกตามซอกใบ มี 1-3 ช่อ ต่อซอกใบ ดอกมีกลิ่นหอม มีขนสั้นหนาแน่น ดอกย่อยเป็นสีขาวมีขนาดเล็ก กลีบดอกมี 3 กลีบ ลักษณะของกลีบเป็นรูปแถบแกมรูปขอบขนาน เกลี้ยง กลีบดอก 2 ใน 3 กลีบ มักจะมีแฉกย่อยที่ปลาย ทำให้ดูคล้ายว่ามีกลีบดอก 5 กลีบ ผลเป็นผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ โคนผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่เกินครึ่งผล หรือประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ส่วนปลายผลมีสีเข้มครอบเหมือนหมวกและมียอดเกสรเพศเมียที่ติดคงทน จะหลุดร่วงไปเมื่อผลแก่จัด ผิวผลเรียบและเป็นมัน ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนสีเหลืองอมส้ม ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลม
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เปลือกต้น, เนื้อไม้ และ ใบ
สรรพคุณทางยา :
- เปลือกต้น เป็นยาชูกำลังหรือบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้เด็กตัวร้อน ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน
- เนื้อไม้ ยาคุมธาตุ ถอนพิษยาเมาเบื่อทั้งปวง รักษาโรคตาแดง รักษาบาดแผล แก้อาการปวดเมื่อย
- ใบ เป็นยาเบื่อ แก้อาการปวดศีรษะ ไข้หวัดคัดจมูก ยาขับพยาธิ
วิธีการใช้ :
- เป็นยาชูกำลังหรือบำรุงกำลัง แก้ไข้ แก้เด็กตัวร้อน ส่วนเปลือกต้นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
- ยาคุมธาตุ ถอนพิษยาเมาเบื่อทั้งปวง รักษาโรคตาแดง รักษาบาดแผล แก้อาการปวดเมื่อย นำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
- เป็นยาเบื่อ แก้อาการปวดศีรษะ ไข้หวัดคัดจมูก ยาขับพยาธิ นำใบมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
น้ำใจใคร่เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย ศรีลังกา พม่า จีน ภูมิภาคอินโดจีน ชวา คาบสมุทรมลายู และอินโดนีเซีย
.