ชื่อสมุนไพร : นางแย้ม
ชื่อเรียกอื่นๆ : ปิ้งสมุทร (เชียงใหม่), ป้องช้อน, ปิ้งชะมด (ภาคเหนือ), ส้วนใหญ่ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ปิ้งหอม และ กะอุมเปอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Clerodendrum chinense (Osbeck) Mabb.
ชื่อสามัญ : Glory Bower, Rose Clerodendrum, Burma Conehead และ Lady Nugent’s Rose
วงศ์ : VERBENACEAE
นางแย้มเป็นต้นไม้ที่สามารถพบได้มากตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ หรือที่ร่มรำไรที่มีความชื้นสูงและมีดินร่วนซุย ซึ่งขยายพันธุ์ด้วยวิธีการขุดต้นอ่อนที่เกิดจากรากที่อยู่ใกล้ผิวดินจึงเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด หรือใช้วิธีการตอนกิ่งและการปักชำกิ่ง มักนิยมปลูกไว้เป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม อีกทั้งดอกนางแย้มยังมีกลิ่นหอมทั้งกลางวันและกลางคืน โดยสามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ซึ่งสมัยก่อนคนไทยส่วนใหญ่นิยมนำดอกนางแย้มไปใช้เป็นเครื่องบูชาพระเนื่องจากมีดอกสีขาว สารเคมีที่พบนั้น ได้แก่ Flavonoid glycoside, phenol, saponin และ Tannin สมุนไพรชนิดนี้มีความโดดเด่นในด้านสรรพคุณทางยาเป็นยารักษาโรคผิวหนัง อาการผื่นคัน และโรคกลากเกลื้อนได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถช่วยแก้อาการเหน็บชา ปวดขา ด้วยการใช้รากตุ๋นกับไก่ รับประทานติดต่อกัน 2-3 วันแล้วอาการจะดีขึ้น
ลักษณะสมุนไพร :
นางแย้มเป็นไม้พุ่มลำต้นเตี้ย ลำต้นค่อนข้างตรง มีขนปกคุลมเล็กน้อย เนื้อไม้อ่อน มีความสูงประมาณ 1.-1.5 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายใบโพธิ์ หรือรูปไข่กว้างคล้ายรูปหัวใจ ใบกว้างประมาณ 8-14 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12-17 เซนติเมตร ผิวใบมีขนละเอียดปกคุลมอยู่ทั้งสองด้าน ผิวใบสากระคายมือ ตรงปลายแหลมแต่ไม่มีติ่ง ขอบใบหยักรอบใบเป็นฟันเลื่อยห่างๆ เมื่อเด็ดใบแล้วนำมาขยี้จะมีกลิ่นเฉพาะ ดอกออกเป็นช่อตามยอดและปลายกิ่ง ดอกจะเบียดเสียดติดกันแน่นในช่อ หนึ่งช่อดอกจะกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกย่อยมีลักษณะคล้ายดอกมะลิซ้อน คือมีดอกเป็นพวงเล็กๆ หลายๆ ดอกเรียงรายซ้อนกันอยู่ แต่ละดอกเมื่อบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 2-3 เซนติเมตร กลีบดอกมีสีขาว เมื่อบานแล้วจะค่อยๆ เปลี่ยนสีเป็นสีชมพู สีม่วงแดงสลับขาว ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงสีม่วงแดงเป็นหลอดสั้นๆ ปลายแยกเป็น 5-6 แฉก กลีบเลี้ยงมีสีม่วงแดง ดอกย่อยจะบานไม่พร้อมกัน ดอกด้านบนจะบานก่อนดอกด้านล่าง แต่ถ้าบานจะบานอยู่นานหลายวัน ดอกมีเกสรตัวผู้ 4 ด้าน ส่วนเกสรตัวเมียมี 1 ก้าน เมื่อผลแก่จะแตกออกเป็น 4 ก้าน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ และ ราก
สรรพคุณทางยา :
- ใบ แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ขับระดูขาว ลดความดันโลหิตสูง แห้หลอดลมอักเสบ
- ราก ขับระดู ขับปัสสาวะ แก้หลอดลมอักเสบ ลำไส้อักเสบ แก้เหน็บชา บำรุงประสาท รวมทั้งเหน็บชาที่มีอาการบวมช้ำ แก้ไข้ แก้ฝีภายใน แก้ริดสีดวง ดากโผล่ แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง แก้ปวดเอว และปวดข้อ แก้ไตพิการ
วิธีการใช้ :
- แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ขับระดูขาว ลดความดันโลหิตสูง แก้หลอดลมอักเสบ นำใบสดมาตำแล้วพอกบริเวณผิวหนังแก้ผื่นคัน หรือ นำใบสดต้มกับน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น หรือ นำใบสดต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ขับระดู ขับปัสสาวะ แก้หลอดลมอักเสบ ลำไส้อักเสบ แก้เหน็บชา บำรุงประสาท รวมทั้งเหน็บชาที่มีอาการบวมช้ำ แก้ไข้ แก้ฝีภายใน แก้ริดสีดวง ดากโผล่ แก้กระดูกสันหลังอักเสบเรื้อรัง แก้ปวดเอว และปวดข้อ แก้ไตพิการ นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
นางแย้มเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินโดนีเซีย ที่เกาะชวาและเกาะสุมาตรา
.