ชื่อสมุนไพร : ทองกวาว
ชื่อเรียกอื่นๆ : กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), จ้า (เขมร), ทองธรรมชาติ, ทองพรหมชาติ, ทองต้น (ภาคกลาง) และ ดอกจาน (อิสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma (Lam.) Taub
ชื่อสามัญ : Flame of the Forest, Bastard Teak
วงศ์ : Leguminosae-Papilionoideae
ทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีดอกที่สวยงาม โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับประจำบ้านเพื่อความสวยงามและความเชื่อโบราณที่ว่าปลูกแล้วจะทำให้ร่ำรวยเงินทอง นอกจากความสวยงามแล้ว ทองกวาวยังสามารถนำมาใช้รักษาโรค ถอนพิษไข้ แก้อาการท้องร่วง ขับพยาธิ และบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายหรืออวัยวะต่างๆได้
ทองกวาวเป็นไม้ผลัดใบ ถือเป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตค่อนข้างช้าโตช้า แต่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งและต้านทานต่อโรคสูง ขยายพันธุ์ได้ด้วยการเพาะเมล็ด
ลักษณะสมุนไพร :
ทองกวาวไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 5 – 15 เมตร เปลือกลำต้นหนา ไม้เนื้อแข็ง ด้านนอกเป็นสีน้ำตาลถึงสีเทาคล้ำค่อน ผิวเปลือกเป็นตุ่มหรือปม เปลือกในมีสีแดง มีน้ำยางอยู่ภายใน ลำต้นแตกกิ่งต่ำ ทิศทางที่ไม่เป็นระเบียบใบเป็นใบประกอบ ใบย่อยมี 3 ใบ ลักษณะใบกลม โคนใบมนสอบ ขนาดใบกว้าง 2 – 5 นิ้ว ยาวประมาณ 4 – 8 นิ้ว ก้านใบยาวประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร ท้องใบมีขนสั้นๆ เส้นแขนงใบข้างละ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาว 3-5 มม.เรียงเวียนสลับแบบตรงข้าม ดอกออกเป็นช่อ ตามกิ่งก้านและปลายกิ่ง ดอกมีขนาดใหญ่ สีแดงหรือสีเหลือง ดอกเป็นช่อสั้น ก้านช่อดอกมีขนสีน้ำตาล กลีบรองกลีบดอกแต่ละกลีบเชื่อมกันเป็นรูปบาตรยาว 1.3 ซม. ส่วนบนแยกออกเป็นกลีบสั้น ๆ 5 กลีบ มีขนสีน้ำตาลดำปกคลุมตลอดกลีบ ดอกยาวประมาณ 7 ซม. มี 5 กลีบ กลีบด้านล่างเป็นรูปเรือแยกเป็นอิสระเมื่อดอกบานเต็มที่มีขนาดกว้างประมาณ 6 ซม. ออกดอกมากที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ผลมีลักษณะเป็นฝัก แบน โค้งงอเล็กน้อย เปลือกนอกของฝักมีสีเขียว เมื่อแห้งจะมีสีน้ำตาลอ่อน ฝักยาวประมาณ 10 – 12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็กอยู่ภายในตรงปลายฝัก
ทองกวาวนิยมปลูกเป็นไม้ประดับบริเวณบ้านและสวน เป็นไม้ที่ทนต่อโรคและความแห้งแล้งได้ดี เจริญเติบโตได้ดีที่แสงแดดจัด ชอบดินร่วนซุย ต้องการน้ำปานกลาง และขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก, ยาง, ใบ, เมล็ด, ฝัก และ ราก
สรรพคุณทางยา :
- ดอก ใช้ถอนพิษไข้ ดับกระหายน้ำ แก้ปวด ถอนพิษไข้ ใช้ผสมเป็นยาหยอดตา แก้อาการเจ็บตาหรือโรคตาฝ้าฟาง ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ สมานแผลปากเปื่อย และแก้พิษฝี
- ยาง ใช้แก้อาการท้องร่วง
- ใบ แก้สิว แก้อาการปวด ช่วยถอนพิษ แก้ท้องขึ้น ช่วยขับพยาธิ และแก้โรคริดสีดวง
- เมล็ด ช้วยขับพยาธิไส้เดือน และแก้ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นและแสบร้อน
- ฝัก ใช้เป็นยาขับพยาธิ
- ราก รักษาโรคประสาท และช่วยบำรุงธาตุ
การใช้งานมีควรใช้ด้วยความระมัดระวังและไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
วิธีการใช้ :
- รักษาฝีและสิว ตำใบให้ละเอียด พอกบริเวณผิวหนังที่เป็นฝีหรือสิว
- แก้ผื่นแดงและแสบร้อน บดเมล็ดให้ละเอียดผสมน้ำมะนาว ทาบริเวณผิวหนังที่มีอาการ
- แก้ปวด ถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ ต้มดอกกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาขับพยาธิ ต้มฝักกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือใช้ใบต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาโรคริดสีดวงทวาร ต้มใบกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ทองกวาวมีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบประเทศปากีสถาน, อินเดีย, บังคลาเทศ, เนปาล, ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
.