ชื่อสมุนไพร : ถั่วเหลือง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ถั่วแระ, ถั่วพระเหลือง, ถั่วแม่ตาย (ภาคกลาง), มะถั่วเน่า, ถั่วเน่า, ถั่วหนัง (ภาคเหนือ), เถ๊าะหน่อ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ตบยั่ง (เมี่ยน), อาทรึ่ม (ปะหล่อง), โชยุ (ญี่ปุ่น), โซยาบีน (อังกฤษ), อึ่งตั่วเต่า และ เฮ็กตั่วเต่า (จีน-แต้จิ๋ว)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Glycine max (L.) Merrill
ชื่อสามัญ : Soybean
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ถั่วเหลืองเป็นพืชตระกูลถั่วและถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะสำหรับปลูกสลับกับการปลูกข้าว ทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งถั่ว” ซึ่งเป็นเมล็ดพืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการเป็นแหล่งที่ดีของไขมันและโปรตีนที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีโปรตีนเลซิทิน และกรดอะมิโน รวมทั้งมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ไนอะซิน วิตามินบี1 และบี2 วิตามินเอและอี ซึ่งกระตุ้นการเจริญเติบโตของกระดูก ป้องกันการขาดแคลเซียม และบำรุงระบบประสาทในสมอง ป้องกันโรคความดันโลหิตสูง ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง ป้องกันโรคมะเร็ง สารสกัดจากถั่วเหลืองอบแห้งมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสและต้านอนุมูลอิสระ อีกทั้งยังมีสารเจนิสเตอิน เป็นสารฟลาโวนอยด์ตัวสำคัญที่มีบทบาทยับยั้งการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง ด้วยกลไกป้องกันการงอกของเส้นเลือดที่จะส่งอาหารเข้าไปเลี้ยงเซลล์มะเร็งได้ สอดคล้องกับงานวิจัยในผู้ป่วยมะเร็งที่รอดชีวิตในประเทศจีน พบว่า ผู้ป่วยที่กินนมถั่วเหลือง เต้าหู้ และอาหารที่ทำจากถั่วเหลือง มีอายุยืนยาวกว่าคนที่ไม่กิน นอกจากนี้ยังสารเดอิดเซอิน ซึ่งเมื่อรับประทานเข้าไปแล้วทำให้เข้าไปจับกับเซลล์เต้านมหรือต่อมลูกหมาก จึงช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งต่อมลูกหมากได้ดี
ลักษณะสมุนไพร :
ถั่วเหลืองเป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรงแตกแขนงค่อนข้างมาก มีความสูงประมาณ 30-150 เซนติเมตร มีขนปกคุลมมีระบบเป็นรากแก้ว ใบเป็นใบเดี่ยว มีใบประกอบ 3 ใบย่อย รูปทรงรูปไข่จนถึงเรียวยาว โคนก้านใบมีหูใบอยู่ 2 อัน ใบมีขนสีน้ำตาลหรือเทา ดอกดอกมีสีขาวหรือสีม่วงออกเป็นช่อแบบกระจะ โดยสีขาวเป็นลักษณะด้อย ดอกเกิดตามมุมของก้านใบ ในหนึ่งช่อดอกจะมีดอกตั้งแต่ 3-15 ดอก กลีบเลี้ยงที่อยู่นอกสุดมีสีเขียว สั้น มีอยู่ 2 กลีบและมีขนปกคุลม กลีบรองดอกมีแฉก 5 แฉก กลีบดอกมี 5 กลีบ ฝักออกเป็นกลุ่ม กลุ่มประมาณ 2-10 ฝัก มีขนสีเทาหรือสีน้ำตาล ฝักมีความยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แต่ละฝักจะมีเมล็ดอยู่ 1-5 เมล็ด ฝักอ่อนมีสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และอาจทำให้ฝักแตกออกทำให้เมล็ดร่วงออกมา เมล็ดอาจมีสีเหลือง สีเขียว สีน้ำตาล หรือสีดำ ลักษณะของเมล็ดมีตั้งแต่กลมรีจนถึงยาว หากเป็นเมล็ดขนาดเล็กจำนวน 100 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 2 กรัม แต่ถ้าหากเป็นเมล็ดใหญ่อาจมีน้ำหนักมากว่า 40 กรัม แต่โดยทั่วไปแล้วจะมีน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 12-20 กรัม
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ, ดอก, เมล็ด, เปลือกเมล็ด และ กากเมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ใบ รักษาเลือดออก รักษาคนที่ถูกงูกัด
- ดอก รักษาต้อกระจก
- เมล็ด ต้านเซลล์มะเร็ง บำรุงม้าม ขับแห้ง ช่วยสลายน้ำ ช่วยขับร้อน ช่วยถอนพิษ แก้ปวด บำบัดอาการลำไส้ทำงานไม่ปกติ รักษาโรคบิด แน่นท้อง ผอมแห้ง รักษาแผลเปื่อย
- เปลือกเมล็ด ช่วยรักษาแผลเปื่อย ช่วยบรรเทาอาการเหงื่อออก ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ บำรุงโลหิต ช่วยขับปัสสาวะ
- กากเมล็ด ป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด
วิธีการใช้ :
- รักษาเลือดออก นำใบมาต้มเอาน้ำ ดื่มรับประทาน
- รักษาคนที่ถูกงูกัด นำใบมาตำแล้วพอกบริเวณที่ถูกงูกัด
- รักษาต้อกระจก นำดอกมาต้มเอาน้ำ ดื่มรับประทาน
- ต้านเซลล์มะเร็ง บำรุงม้าม ขับแห้ง ช่วยสลายน้ำ ช่วยขับร้อน ช่วยถอนพิษ แก้ปวด บำบัดอาการลำไส้ทำงานไม่ปกติ รักษาโรคบิด แน่นท้อง ผอมแห้ง รักษาแผลเปื่อย นำผลมาต้มรับประทาน หรือคั้นเป็นน้ำ ดื่มรับประทาน
- ช่วยรักษาแผลเปื่อย ช่วยบรรเทาอาการเหงื่อออก ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ บำรุงโลหิต ช่วยขับปัสสาวะ นำเปลือกเมล็ดมาพอกบริเวณแผล หรือ ต้มรับประทาน
- ป้องกันการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด นำกากเมล็ดมารับประทานสดๆ
ถิ่นกำเนิด :
ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีน ทางตอนกลางหรือทางเหนือ
.