ตาเสือ

ชื่อสมุนไพร : ตาเสือ
ชื่อเรียกอื่นๆ : เลาหาง (เชียงใหม่), ขมิ้นดง (ลำปาง), เซ่ (แม่ฮ่องสอน), เย็นดง (กำแพงเพชร), ตาปู่ (ปราจีนบุรี), มะยมหางก่าน (บุรีรัมย์), ตุ้มดง (กระบี่), มะหังก่าน, มะฮังก่าน, มะอ้า (ภาคเหนือ), โกล, ตาเสือ (ภาคกลาง), แดงน้ำ (ภาคใต้), เชือย, โทกาส้า, พุแกทิ้, เส่ทู่เก๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮองสอน) และ ยมหังก่าน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aphanamixis polystachya (Wall.) R.Parker
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : MELIACEAE

TS2

ตาเสือเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นอยู่ด้านในของป่าชายเลน บริเวณน้ำกร่อยตามริมชายฝั่งของแม่น้ำที่ได้รับอิทธิพลจากการขึ้น-ลงของน้ำทะเล ไม้ตาเสือสามารถเอามาทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้ดี เพราะเนื้อไม้มีความแข็ง เหนียว มีความแข็งแรงทนทานดี ส่วนผลใช้เป็นอาหารของนกเงือก สรรพคุณใช้เป็นยาแก้บวมตามข้อต่างๆ ในร่างกาย และเนื้อไม้และเปลือกต้นมีรสฝาด มีสรรพคุณมากมาย ได้แก่ เป็นยาแก้ธาตุพิการ เป็นยาปิดธาตุ กล่อมเสมหะ แก้เสมหะ เป็นยาสมานท้องไส้ได้ดี เป็นยาแก้ท้องเสีย เป็นยาขับโลหิต ขับระดู รัดมดลูก เป็นยาสมานแผล เป็นยาแก้ปวดตามข้อ ข้อควรระวัง ก็คือ ทุกส่วนของต้นตาเสือเป็นพิษ กินมากอาจทำให้ตายได้ และเห็ดที่เกิดจากขอนไม้ตาเสือเมื่อกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการเมาอาเจียนถึงตายได้เช่นกัน

 TS3

ลักษณะสมุนไพร :
ตาเสือเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงได้ถึง 25 เมตร เปลือกต้นมีความหนาแตกเป็นสะเก็ดหลุดล่อนออก ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีเหลือง ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 3-7 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบกลมเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบเป็นคลื่นๆ ใบมีขนาดความกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตร และความยาวประมาณ 6-18 เซนติเมตร แผ่นใบเรียบเกลี้ยงเป็นสีเขียวเข้ม ดอกออกเป็นช่อแยกแขนงยาว โดยจะตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกเป็นแบบแยกเพศ มีทั้งช่อดอกเพศผู้ ช่อดอกเพศเมีย และช่อดอกที่มีทั้งสองเพศ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองอ่อน ลักษณะเป็นรูปทรงกลม กลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันปลายแยกออกเป็น 3 แฉก สีเขียวและมีขน ส่วนกลีบดอกมี 3 กลีบ สีเหลือง เกสรเพศผู้เชื่อมติดกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ผลมีลักษณะกลม ขนาดประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 2-3 ซีก ภายในผลมีเมล็ดสีน้ำตาลดำและมีเยื้อหุ้มเมล็ดสีแดง

 TS4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เนื้อไม้, เปลือกต้น, แก่น, ใบ และ ผล
สรรพคุณทางยา :

  1. เนื้อไม้ แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย
  2. เปลือกต้น กล่อมเสมหะ แก้เสมหะ แก้บิดมูกเลือด ขับโลหิต ขับระดู รัดมดลูก สมานแผล แก้บวมตามข้อต่างๆ ในร่างกาย แก้ปวดตามข้อ
  3. แก่น สมานท้องไส้
  4. ใบ แก้บวม
  5. ผล แก้บวมตามข้อต่างๆ ในร่างกาย

 TS1

วิธีการใช้ :

  1. แก้ธาตุพิการ แก้ท้องเสีย นำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. กล่อมเสมหะ แก้เสมหะ แก้บิดมูกเลือด ขับโลหิต ขับระดู รัดมดลูก สมานแผล แก้บวมตามข้อต่างๆ ในร่างกาย แก้ปวดตามข้อ  นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  3. สมานท้องไส้ นำแก่นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  4. แก้บวม นำใบมาตำพอกแก้บวม
  5. แก้บวมตามข้อต่างๆ ในร่างกาย นำผลมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
ตาเสือเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy