ชื่อสมุนไพร : ตะไคร้
ชื่อเรียกอื่นๆ : จะไคร (ภาคเหนือ), ไคร (ภาคใต้), คาหอม (แม่ฮ่องสอน), เชิดเกรย, เหลอะเกรย (เขมร-สุรินทร์), ห่อวอตะโป่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ขี้ไคร้ (อินดี้-สกา), หัวสิงโต (เขมร-ปราจีนบุรี) และตะไคร้แกง (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Doragag Staph
ชื่อสามัญ : Lemon Grass, Lapine
วงศ์ : Poaceae (Gramineae)
ตะไคร้เป็นพืชตระกูลหญ้า ถือได้ว่าเป็นสมุนไพรที่นิยมนำมาประกอบอาหาร ตะไคร้โดยแบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม ตะไคร้หางนาค ตะไคร้กอ ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางสิงห์ และตะไคร้ต้น ซึ่งทั้ง 6 ชนิดนี้จัดว่าเป็นพืชสมุนไพรที่นิยมปลูกทั่วไปในประเทศไทย ทั้งยังเป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่มีทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ ธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส สรรพคุณที่สำคัญของตะไคร้ คือเป็นยารักษาโรคต่างๆ เช่น ยาบำรุงธาตุไฟ แก้อาการเบื่ออาหาร ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ช่วยรักษาอาการไข้ บรรเทาอาการหวัดและไอ แก้อาเจียน รักษาโรคหอบหืด รักษาโรคความดันโลหิตสูง และช่วยการขับเหงื่อได้ อีกทั้งน้ำมันหอมระเหยในตะไคร้มีส่วนช่วยต่อต้านเชื้อราบนผิวหนังชั้นดี หากนำไปผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นจะทำให้แก้โรคหนองในได้ คุณประโยชน์ของตะไคร้ในการประกอบอาหาร คือความสามารถในด้านการดับกลิ่นคาวอาหาร นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษในการไล่ยุงและแมลง ซึ่งรับรองจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ว่าสามารถป้องกันยุงกัดได้นานถึง 2 ชั่วโมง
ลักษณะสมุนไพร :
ตะไคร้จัดเป็นพืชล้มลุกที่ปลูกได้ในทุกภาคของประเทศไทย เจริญเติบโตง่ายโดยออกเป็นกอใหญ่หรือเป็นไม้พุ่มที่ค่อนข้างสูงประมาณ 1 เมตร มีกลิ่นหอม ลักษณะคล้ายกับพืชจำพวก ขิง ข่า ขมิ้น ที่มีลักษณะรูปทรงกระบอก มีข้อ ปล้องสั้น และมีตา ขยายพันธุ์โดยการแตกหน่อ มีลำต้นอยู่ใต้ดินลักษณะเป็นแง่ง หรือ เหง้า มีชื่อเรียกว่า ไรโซม (Rhizome) ลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว เจริญออกมาจากตา ตัวใบมีสีเขียวทั้งยาวและแคบ ปลายใบเรียวแหลม มีเส้นใบขนานกันและเส้นกลางใบแข็ง ตรงขอบใบจะมีขนเล็กๆ สีขาว ก้านใบค่อนข้างยาว บริเวณโคนของก้านใบมีลักษณะเป็นกาบใบโอบหุ้มซ้อนกันแน่น คล้ายกับเป็นลำต้น จึงมักเรียกส่วนนี้ว่าเป็นลำต้นของตะไคร้ ดอกของตะไคร้มีดอกเล็กฝอยจำนวนมาก ลักษณะที่ออกจะเป็นช่อยาวแบบกระจาย ช่อดอกย่อยๆมีก้านเป็นคู่ ๆ มีใบประดับรองรับในแต่ละคู่
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ :ต้น, ราก, ใบ และลำต้น
สรรพคุณทางยา :
- ต้น แก้ผมแตกปลาย แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้หนองใน มีสรรพคุณเป็นยาขับลม และเป็นยาช่วยให้ลมเบ่งขณะคลอดลูก
- ราก บำรุงไฟธาตุ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้เสียดแน่น ปวดกระเพาะอาหารและขับปัสสาวะแสบบริเวณหน้าอก แก้อาการขัดเบา รักษาเกลื้อน
- ใบ แก้เบื่ออาหาร แก้ไข้ ลดความดันโลหิตสูง
- ทั้งต้น บำรุงธาตุไฟ ใช้แก้หวัด ไอ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลมในลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร แก้ปวดท้อง แก้ท้องเสีย แก้ปวดข้อ ปวดเมื่อย แก้โรคปัสสาวะขัด แก้โรคหืด รักษาโรคนิ่ว แก้ปัสสาวะเป็นเลือด ประจำเดือนมาผิดปกติ
วิธีการใช้ :
- แก้อาการแน่นจุกเสียด ท้องอืดท้องเฟ้อ ใช้ลำต้นแก่ๆ ประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 50 กรัม) ทุบจนแหลก ต้มกับน้ำ ดื่มเป็นน้ำตะไคร้ หรือนำไปประกอบเป็นอาหารเช่น ต้มยำ ยำต่างๆ
- แก้อาการปวดท้อง ใช้ลำต้นต้นรวมรากจำนวน 5 ต้น นำมาสับเป็นท่อน ต้มกับน้ำ เติมเกลือ โดยต้มจาก 3 ส่วน ให้เหลือ 1 ส่วน นำมารับประทานครั้งละ 1 ถ้วยแก้ว ระยะเวลา 3 วัน
- แก้อาการขัดเบา สำหรับผู้ที่ปัสสาวะขัด (แต่ไม่มีอาการบวม) ใช้ลำต้นแก่สด ประมาณ 1 กำมือ (ประมาณ 50 กรัม) ต้มกับน้ำ ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (75 มิลลิลิตร) ก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น)หรือ ใช้เหง้าตะไคร้แก่ที่ฝังใต้ดิน นำมาฝานเป็นแว่นบางๆ แล้วนำไปคั่วไฟอ่อนๆ พอให้มีสีเหลือง ชงกับน้ำเป็นชาไว้ดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา ก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น)
- ไล่ยุงและแมลง ใช้ต้นตะไคร้ล้างให้สะอาด ทุบให้พอแตก วางไว้ใกล้ๆตัว กลิ่นจากน้ำมันตะไคร้ทำให้ยุงและแมลงบินหนี
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง แก้ไข้ นำใบมาต้มกับน้ำ รับประทานน้ำต้มใบตะไคร้
- แก้หวัด ใช้ลำต้นตะไคร้ จำนวน 1 ต้น นำมาหั่นเป็นแว่นๆ และขิงสดประมาณ 5-6 แว่น เติมน้ำปริมาณ
3-4 แก้ว ต้มจนเดือด แล้วทิ้งไว้ให้อุ่น นำมาดื่มครั้งละ 1/2-1 แก้ว หลังอาหาร วันละ 3 ครั้ง (เช้า กลางวัน เย็น)
ถิ่นกำเนิด :
ตะไคร้เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ และในประเทศศรีลังกา พม่า อินโดนีเซีย ไทย และอินเดีย
.