ดาวเรือง


ชื่อสมุนไพร : ดาวเรือง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ดาวเรืองใหญ่ (ทั่วไป), คำปู้จู้หลวง (ภาคเหนือ), พอทู (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บ่วงซิ่วเก็ก (จีนแต้จิ๋ว), ว่านโซ่วจวี๋ (จีนกลาง), บ่วงลิ่วเก็ก เฉาหู่ย้ง, กิมเก็ก (จีน) และ ดาวเรืองอเมริกัน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tagetes erecta  L.
ชื่อสามัญ : African Marigold, American Marigold, Aztec Marigold และ Big Marigold
วงศ์ : COMPOSITAE



DR4

ดาวเรืองเป็นเป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดเป็นหลัก เจริญเติบโตได้เร็ว ชอบดินร่วน ระบายน้ำได้ดี มีความชื้นปานกลาง และชอบแสงแดดแบบเต็มวัน เนื่องจากดอกดาวเรืองมีความสวยงาม จึงนิยมปลูกเพื่อประดับเป็นจุดเด่นตามสวนหรือใช้ปลูกเป็นกลุ่มๆ ตามริมถนนหรือทางเดิน 10.นอกจากจะใช้ปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ปลูกเป็นเพื่อเกราะป้องกันแมลงศัตรูพืชให้แก่พืชอื่นๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากดาวเรืองมีสารที่มีกลิ่นเหม็นฉุนที่แมลงไม่ชอบ ส่วนดอกสามารถใช้ประกอบอาหารโดยลวกจิ้มกับน้ำพริก ใช้แกล้มกับลาบ ส่วนทางภาคใต้นั้นจะนิยมนำมาใช้เป็นผักผสมในข้าวยำ ดอกดาวเรืองมีสารเบต้าแคโรทีนจากธรรมชาติ ซึ่งคุณสมบัติของเบต้าแคโรทีนนี้จะทำหน้าที่โปรวิตามินเอ เมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ นอกจากนี้ยังเป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในตับและปอดของร่างกายอีกด้วย

 DR2

ลักษณะสมุนไพร :
ดาวเรืองเป็นไม้ล้มลุก ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่อง ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวน ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร เนื้อใบนิ่ม ดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสด หรือสีเหลืองปนส้ม กลบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ 5 อัน โดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นหรือเป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออกปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมากและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว ผลเป็นผลแห้งสีดำไม่แตก ดอกจะแห้งติดกับผลโคนกว้างเรียวสอบไปยังปลายซึ่งปลายผลนั้นจะมน

 DR3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ และ ช่อดอก
สรรพคุณทางยา :

  1. ใบ แก้ฝีฝักบัว ฝีพุพอง เด็กเป็นตานขโมย ตุ่มมีหนอง บวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุ
  2. ช่อดอก กล่อมตับ ขับร้อน ละลายเสมหะ แก้เวียนศีรษะ ตาเจ็บ ไอหวัด ไอกรน หลอดลมอักเสบ เต้านมอักเสบ คามทูม เรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และแก้ปวดฟัน

 DR1

วิธีการใช้ :

  1. แก้ฝีฝักบัว ฝีพุพอง เด็กเป็นตานขโมย ตุ่มมีหนอง บวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุ นำใบตำพอก หรือต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น หรือ นำใบแห้ง 5- 10 กรัม ต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. กล่อมตับ ขับร้อน ละลายเสมหะ แก้เวียนศีรษะ ตาเจ็บ ไอหวัด ไอกรน หลอดลมอักเสบ เต้านมอักเสบ คามทูม เรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น และแก้ปวดฟัน นำช่อดอก 3- 10 กรัม มาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือนำช่อดอกต้มเอาน้ำ ชะล้างบริเวณที่เป็น

ถิ่นกำเนิด :
ดาวเรืองเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก

 





.