บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้เปลือกไม้ปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยา

ซ้อ


ชื่อสมุนไพร : ซ้อ
ชื่อเรียกอื่นๆ : แต้งขาว (เชียงใหม่), สันปลาช่อน (สุโขทัย), ม้าเหล็ก (กาญจนบุรี), เป้านก (อุตรดิตถ์), ช้องแมว (ชุมพร, ปราจีนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี), แก้มอ้น (นครราชสีมา, อุดรธานี, ชุมพร), ท้องแมว (สุพรรณบุรี, ราชบุรี), เมา (สุราษฎร์ธานี), เซาะแมว (นราธิวาส), เฝิง (ภาคเหนือ, เพชรบุรี), ไม้ซ้อ (ไทใหญ่, ไทลื้อ), ซึงโฉว้ (ม้ง), ลำชิล้า ลำซ้อ (ลั้วะ), ไม้เส้า (ปะหล่อง), ต๊ะจู้งก้ง (เมี่ยน) และ ตุ๊ดจะหระ (ขมุ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gmelina arborea Roxb.
ชื่อสามัญ : Gamari และ So
วงศ์ : VERBENACEAE



S3

ซ้อเป็นพรรณไม้ที่มักจะขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบเขา ป่าดิบชื้น และป่าดิบแล้ง ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 1,500 เมตร จัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสรรพคุณช่วยในการรักษาแผล แก้บวม และเป็นยาถ่ายพยาธิ แก้ปวดฟัน แก้เหงือกบวม แก้ปวดศีรษะ และอีกหนึ่งสรรพคุณนิยมนำมาบำรุงผม ทั้งยังรักษารังแค และป้องกันผมร่วงได้อีกด้วย นอกจากนี้สามารถนำผลสุกมาบีบเอาน้ำผสมกับข้าวเหนี่ยวนึ่งแล้วนำมาหมดไฟใช้รับประทาน หรือสามารถนำผลนำไปบีบใส่ในน้ำใส่ข้าวจี่จะช่วยทำให้มีรสหวานขึ้นด้วย

 S5

ลักษณะสมุนไพร :
ซ้อเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 15-25 เมตร กิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยมและมีขนละเอียด ใบเป็นเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมยาว โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง แผ่ออกคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ส่วนท้องใบด้านล่างมีนวลและมีขนสั้นนุ่ม ดอกออกเป็นช่อกระจุกแยกแขนงสั้นๆ โดยจะออกตามปลายกิ่ง มี 1 ช่อหรือหลายช่อ ช่อดอกมีดอกย่อยจำนวนมาก กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูประฆัง ปลายกลีบเป็นรูปสามเหลี่ยม ด้านนอกกลีบเลี้ยงมีขนติดทน ส่วนกลีบดอกสมมาตรด้านข้าง ลักษณะเป็นรูปปากแตรโป่งด้านเดียว ปลายแยกเป็นกลีบ 5 กลีบ แบ่งเป็นกลีบบน 2 กลีบ และกลีบล่างอีก 3 กลีบ มีขนาดไม่เท่ากัน ด้านนอกเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนด้านในหลอดกลีบเป็นสีครีมอ่อนๆ กลีบปากล่าง กลีบกลางด้านในเป็นสีเหลืองแซม มีขนสั้นนุ่มอยู่ด้านนอก ส่วนด้านในเกลี้ยง ผลเป็นรูปวงรีหรือรูปไข่ ผิวผลเกลี้ยงเป็นมัน มีกลิ่น ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ผลเป็นแบบเมล็ดเดียวและแข็ง เมล็ดลักษณะรูปรี

 S1

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ และ เปลือกต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก บำรุงธาตุในร่างกาย
  2. ใบ รักษาแผล แก้บวม และเป็นยาถ่ายพยาธิ แก้ปวดฟัน แก้เหงือกบวม แก้ปวดศีรษะ รักษารังแค ป้องกันผมร่วง
  3. เปลือกต้น แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน และหูด แก้อาการคัน แก้อาการคันตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า รักษาโรคเท้าเปื่อย รักษาแผลที่เกิดน้ำกัดเท้า

 S2

วิธีการใช้ :

  1. บำรุงธาตุในร่างกาย นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. รักษาแผล แก้บวม และเป็นยาถ่ายพยาธิ แก้ปวดฟัน แก้เหงือกบวม แก้ปวดศีรษะ รักษารังแค ป้องกันผมร่วง นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือนำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็นแผล หรือ สระผม
  3. แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน และหูด แก้อาการคัน แก้อาการคันตามง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า รักษาโรคเท้าเปื่อย รักษาแผลที่เกิดน้ำกัดเท้า นำเปลือกต้นมาฝนกับน้ำ แล้วทาบริเวณที่คัน

S4
ถิ่นกำเนิด :
ซ้อเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา บังคลาเทศ เนปาล ภูฎาน พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และประเทศมาเลเซีย

 





.