ชื่อสมุนไพร : ซาก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักฮาก (ภาคเหนือ), ชาด, พันชาด, ไม้ชาด, ซาด, พันซาด (ภาคอีสาน), ตะแบง (อุดรธานี), ซาก, คราก (ชุมพร), ตร้ะ (ส่วย-สุรินทร์) และ เตรีย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Erythrophloeum succirubrum Gagnep
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ซากเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดด มักพบขึ้นตามป่าราบและป่าผลัดใบ พบได้เป็นจำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมา หรือพบได้มากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาควันออก ภาคกลาง และทางภาคใต้ตอนบน เนื้อไม้เมื่อนำมาเผาให้เป็นถ่านจะให้ไฟแรงได้ดี หรือที่เรียกกันว่า “ถ่านทำทอง” ชาวบ้านชนบทในสมัยก่อนจะนิยมตัดเอาต้นซากไปเผาทำถ่านบรรจุกระสอบขาย ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้ซื้อกันอย่างแพร่พลาย เนื่องจากเป็นถ่านที่ให้แรงและไม่มอดง่ายนั่นเอง เนื้อไม้ยังสามารถนำไปใช้ทำหมอนรองรางรถไฟ ทำเสาอาคารบ้านเรือ เสาเข็ม ลอด ตง ขื่อ พื้นกระดาน เพลาเกวียน ฯลฯ เนื่องจากเนื่องไม้มีความทนทานและแข็งแรงมาก ส่วนแก่นนิยมนำมาใช้ทำด้ามขวานหรือเครื่องมือทางการเกษตร ต้นซากสามารถนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้อนุรักษ์หรือปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่า และจะช่วยรักษาหน้าดินได้ดีมาก เพราะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่
ลักษณะสมุนไพร :
ซากเป็นพรรณไม้ผลัดใบยืนต้นขนาดใหญ่ เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 20-35 เมตร ลำต้นมีขนาดใหญ่ ออกใบดกและหนาทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำ แตกเป็นร่องค่อนข้างลึกตามยาวและตามขวางของลำต้น เนื้อไม้ด้านในเป็นสีขาว และแก่นกลางไม้มีเนื้อแข็งเป็นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ลักษณะของใบคล้ายกับใบมะค่าหรือใบประดู่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงสลับ มีช่อใบด้านข้าง 2-3 คู่ ในช่อใบมีใบย่อยประมาณ 8-16 คู่ ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปใบหอก รูปหัวใจ หรือรูปข้าวหลามตัด ปลายใบมน โคนใบสอบหรือเบี้ยว ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวสด ผิวท้องใบมีขนสั้นๆ ปกคลุม มีเส้นแขนงใบข้างละประมาณ 5-7 เส้น ก้านใบย่อยยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ออกดอกเป็นพุ่มหรือออกเป็นช่อยาวใหญ่ตามซอกใบใกล้ๆ ปลายกิ่ง มีจำนวน 1-3 ช่อต่อหนึ่งซอกใบ มีดอกย่อยจำนวนมากเบียดกันแน่นอยู่ตามแกนดอก ดอกเป็นสีเหลือง สีเหลืองนวล หรือสีขาวปนเหลืองอ่อน ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบติดกันเป็นรูปถ้วยสีเขียว ผลมีลักษณะเป็นฝัก ลักษณะของฝักจะค่อนข้างกลมคล้ายกับฝักประดู่ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร มีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ดต่อฝัก เมล็ดมีลักษณะกลมแบน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เนื้อไม้ และ ต้น
สรรพคุณทางยา :
- เนื้อไม้ ยาแก้โรคเกี่ยวกับเด็ก ช่วยดับพิษตานซาง ยาแก้พิษไข้ แก้อาการเซื่องซึม แก้พิษไข้ เซื่องซึม แก้โรคผิวหนัง
- ต้น แก้ไข้ที่มีพิษร้อน กระสับกระส่าย ช่วยแก้ไข้เซื่องซึม ช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยดับพิษโลหิต
วิธีการใช้ :
- ยาแก้โรคเกี่ยวกับเด็ก ช่วยดับพิษตานซาง ยาแก้พิษไข้ แก้อาการเซื่องซึม แก้พิษไข้ เซื่องซึม แก้โรคผิวหนัง นำเนื้อไม้มาเผาให้เป็นถ่านแล้วบดให้เป็นผง ใช้ปรุงเป็นยา
- แก้ไข้ที่มีพิษร้อน กระสับกระส่าย ช่วยแก้ไข้เซื่องซึม ช่วยแก้ไข้สันนิบาต ช่วยดับพิษโลหิต นำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ซากเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.