ชะพลู

ชื่อสมุนไพร : ชะพลู
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักปูน, ช้าพลู, ชะพลูเถา, เฌอภลู, ผักปูนา, ผักปูลิง, ผักปูริง, ปูลิงนก, ผักพลูนก, ผักอีไร, ผักอีเลิศ, พลูลิง, เย่เท้ย, พลูนก, ผักปูนก, พลูลิงนก และนมวา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper sarmentosum  Roxb.
ชื่อสามัญ : Wildbetal Leafbush
วงศ์ : PIPERACEAE

ชะพลูเป็นผักพื้นบ้านที่นิยมนำมารับประทาน โดยมากมักรับประทานเป็นเมี่ยงคำ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ในใบชะพลูมีสารอาหารที่สำคัญต่อร่างกายในปริมาณสูง ได้แก่ แคลเซียมและวิตามินเอ นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณที่โดดเด่นในด้านการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน และมีสรรพคุณช่วยในการขับเสมหะ แก้ท้องอืด แก้ธาตุพิการ ขับลม แก้บิด และช่วยให้ร่างกายเจริญอาหารได้ดี แต่อย่างไรก็ตามจะต้องมีการควบคุมปริมาณการบริโภคชะพลูที่เหมาะสมเพราะหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมของแคลเซียมออกซาเลท จนกลายเป็นนิ่วในไตได้

 ch2

ลักษณะสมุนไพร :

ชะพลูเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก ลำต้นมีลักษณะเป็นเถาเลื้อยทอดคลานไปตามพื้นดิน สูง 30-80 เซนติเมตร ลำต้นสีเขียว แบ่งเป็นข้อ แต่ละข้อจะมีรากงอกออกมาช่วยในการยึดเกาะ ใบชะพลูเป็นใบเดี่ยว สีเขียวสด ออกเรียงสลับ แผ่นใบมีลักษณะบาง ผิวใบเรียบเป็นมัน  รูปร่างใบคล้ายใบพลูคือมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ขนาดกว้าง 5-10 ซม. ยาว 7-15 ซม. ปลายใบแหลม ฐานใบกว้าง โคนใบเว้า มีเส้นใบชัดเจน ใบมีกลิ่นฉุนและรสเผ็ด ดอกมีสีขาว ออกดอกเป็นช่อที่ซอกใบ ดอกออกอัดแน่นเป็น ทรงกระบอกยาว  ผลสดมีลักษณะกลม อัดแน่นอยู่บนแกน

ชะพลูเจริญเติบโตได้ทั่วไปตามที่เปียกชื้น ปลูกง่าย โตไว ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ

 

 ch6

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล ราก ดอก ใบ ทั้งต้น

สรรพคุณทางยา :

  1. ผล ช่วยรักษาโรคหืดและแก้บิด
  2. ราก ขับเสมหะให้ออกทางระบบขับถ่าย ขับลมในลำไส้ แก้ธาตุพิการ บำรุงธาตุ แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อขับลม และแก้บิด
  3. ดอก ทำให้เสมหะแห้ง ช่วยขับลมในลำไส้
  4. ใบ ใบมีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ มันหอมระเหยที่ให้กลิ่นเผ็ดฉุนในใบทำให้ร่างกายเจริญอาหาร อีกทั้งมีคุณค่าทางสารอาหารที่สำคัญ คือ แคลเซียม และสารเบต้า-แคโรทีนหรือวิตามินเอในปริมาณสูง
  5. ทั้งต้น แก้เสมหะ ท้องอืด ท้องเฟ้อและ รักษาโรคเบาหวาน

    

วิธีการใช้ :

  1.  รักษาโรคเบาหวาน ใช้ชะพลูสดทั้งต้น จำนวน 7 ต้น ล้างน้ำให้สะอาด แล้วต้มในน้ำเดือด เพื่อดื่มรับประทาน ครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร การรับประทานใบชะพลูมีข้อพึงระวัง คือ การสังเกตระดับน้ำตาลในเลือดทั้งก่อนและหลังดื่มทุกครั้ง เพราะชะพลูมีผลทำให้น้ำตาลลดลงเร็วมาก
  2.  แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม ต้มราก 1 กำมือ กับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวจนเหลือครึ่งแก้ว ก่อนดื่มรับประทาน
  3.  แก้บิด ต้มรากครึ่งกำมือ ผล 2-3 หยิบมือ กับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 แก้ว ก่อนดื่มรับประทาน
  4. ยาแก้โรคถ่ายปัสสาวะบ่อย ใช้ต้นชะพลูทั้งต้นมาย่างไฟให้กรอบ ตำผสมกับเปลือกหอยแครง 7 ฝา ที่เผาไฟให้เป็นขี้เถ้าแล้ว ชงน้ำร้อนดื่มรับประทาน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการรับประทานชะพลูในปริมาณยิ่งมากยิ่งมีประโยชน์ เนื่องมาจากชะพลูมีสารออกซาเลท (Oxalate) ค่อนข้างสูง การรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ อีกทั้งควรรับประทานร่วมกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ จะช่วยให้ร่างกายย่อยได้ง่ายขึ้น

ถิ่นกำเนิด :

ชะพลูมีถิ่นกำเนิดที่หมู่เกาะมาเลย์และหมู่เกาะชวา

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy