คาวตอง

ชื่อสมุนไพร : คาวตอง
ชื่อเรียกอื่นๆ : คาวทอง, ผักก้านตอง(แม่ฮ่องสอน), ผักเข้าตอง, ผักคาวตอง, ผักคาวปลา(ภาคเหนือ) และพลูคาว(ภาคกลาง) และ chinese lizard tail
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Houttuynia cordata Thunb.
ชื่อสามัญ Houttuynia
วงศ์ : SAURURACEAE

 PKT2

คาวตองเป็นสมุนไพรที่สามารถนำเอาส่วนต่างๆของต้นมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของการรักษาโรคมะเร็ง จากผลงานวิจัยของคณะแพทย์ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยของแก่น พบว่า คาวตองช่วยกระตุ้นไขกระดูกให้ผลิตเซลล์ต้นกำเนิดได้ ซึ่งการกระตุ้นเซลล์ต้นกำเนิดให้ออกมาไหลเวียนในกระแสเลือดมากขึ้น มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นคืนจากโรคเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันซึ่งส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV นอกจากนี้พบว่า เมื่อนำมาสกัดเป็นยาน้ำแล้วใช้ทดลองกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควบคู่กับการรักษาโดยการฉายรังสี ปรากฏว่าสามารถทำให้ผู้ป่วยมะเร็งหายจากโรคร้ายนี้ได้รวดเร็วกว่าการรักษาแบบเดิม

 PKT4

ลักษณะสมุนไพร :
คาวตองเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 15-30 ซม. ลำต้นมีลักษณะกลม สีเขียว และมีรากแตกออกตามข้อ ทั้งต้นและใบมีกลิ่นคาว ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ ขนาดกว้าง 4-6 ซม. ยาว 6-10 ซม. ใบมีสีเขียว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ขอบใบและแผ่นใบเรียบ ก้านใบยาว โคนเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกมีสีขาว ออกเป็นช่อเล็กๆจำนวนมากที่บริเวณปลายยอด มีใบประดับที่โคนช่อดอก 4 ใบ ใบประดับมีสีขาว ผลเป็นผลแห้ง เมื่อแตกออกจะพบเมล็ดรูปทรงรีอยู่ด้านใน

 PKT1

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ทั้งต้น ต้นสด ใบสด และ ดอก
สรรพคุณทางยา :

  1. ทั้งต้น  ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ แก้ฝีบวมอักเสบ แก้หูชั้นกลางอักเสบ แก้ระบบทางเดินหายใจอักเสบ  แก้ไอ แก้บิด รักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและโรคริดสีดวงทวาร
  2. ต้นสด  รักษาฝีบวมอักเสบ  แก้โรคผิวหนัง รักษาแผลที่ถูกงูพิษกัด และช่วยให้กระดูกเชื่อมติดกันเร็วขึ้น
  3. ใบสด  รักษาเนื้องอก ใช้เป็นยาระบาย ช่วยขับพยาธิ แก้ไข้ แก้อาหารไม่ย่อย และแก้ท้องเสีย
  4. ดอก  ใช้ขับทารกที่เสียชีวิตในครรภ์มารดา แก้โรคน้ำกัดเท้า แก้ผิวหนังหยาบกร้าน และใช้ป้องกันผิวหนังแตกเป็นร่อง

ข้อควรระวัง : การรับประทานพืชชนิดนี้มากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดอาการหายใจสั้นและถี่ และอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

 PKT3

วิธีการใช้ :

  1. ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการบวมน้ำ แก้ฝีบวมอักเสบ แก้หูชั้นกลางอักเสบ แก้ระบบทางเดินหายใจอักเสบ  แก้ไอ แก้บิด รักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โรคริดสีดวงทวาร รักษาหนองใน หรือตกขาวมากผิดปกติ ใช้ต้นแห้ง 15-30 กรัม หรือ ต้นสด 30-60 กรัม แช่น้ำไว้สัก 1-3 นาที ต้มน้ำให้เดือดประมาณ 5 นาที ดื่มรับประทาน
  2. รักษาฝีบวมอักเสบ  แก้โรคผิวหนัง รักษาแผลที่ถูกงูพิษกัด นำเอาต้นสดมาตำ พอกบริเวณ ผิวหนัง
  3. รักษาโพรงจมูกอักเสบเรื้อรัง นำต้นสดมาคั้นเอาน้ำ หยอดจมูกวันละหลายๆ ครั้ง และใช้ต้นสดประมาณ 21 กรัม ต้มน้ำดื่มรับประทานคู่กันจะช่วยให้หายได้เร็วขึ้น
  4. รักษาฝีบวมอักเสบ บดต้นแห้งให้ผง ผสมน้ำผึ้งพอกฝีที่ยังไม่มีหนองฝีจะค่อยๆยุบหายไป แต่หากเป็นฝีที่มีหนองก็จะเร่งให้หนองออกเร็วขึ้น
  5. รักษาฝีเนื้อร้าย ใช้ต้นสดตำพอกบริเวณฝี ทิ้งไว้ 1-2 ชั่วโมง ทำซ้ำ 1-2 วัน อาการอักเสบจะลดลงและค่อยๆหายไป
  6. รักษามะเร็งที่ปอด ใช้ต้นแห้ง 18 กรัม  ผสมกับตังขุ่ยจี้ (Malva verticillata  L.) แห้ง 30 กรัม, เหง้ายาหัว (Smilax glabra  Roxb.) แห้ง 30 กรัม, กะเม็งตัวเมีย (Eclipta prostrata  L.) แห้ง18 กรัม, ปวงเทียงขิ่มเล้า (Cyathea spinulosa  Wall.) แห้ง 18 กรัม และชะเอม 5 กรัม ต้มน้ำดื่มรับประทาน

 PKT5

ถิ่นกำเนิด :
คาวตองเป็นพืชสมุนไพรประจำถิ่นในแถบภาคเหนือของไทย และยังพบในบริเวณเทือกเขาหิมาลัย อินเดีย จีน เวียดนาม ลาว เกาหลี และญี่ปุ่น

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy