ข่า

ชื่อสมุนไพร : ข่า
ชื่อเรียกอื่นๆ : กฎุกกโรหินี (กลาง), ข่าหยวก (เหนือ), ข่าหลวง (ตะวันออกเฉียงเหนือ), สะเอเชย (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) และ เสะเออเคย (กะเหรี่ยง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd.
ชื่อสามัญ : Galangal
วงศ์ : ZINGIBERACEAE

K2

ข่าเป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในวงศ์เดียวกับขิง จัดเป็นเครื่องเทศที่คนไทยนิยมใช้กันมากเนื่องจากสามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ง่าย ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศ มีอายุยืนยาว และสามารถขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ตลอดทั้งปีข่ามีรสชาติเผ็ดร้อนและมีกลิ่นแรง จึงเป็นที่นิยมนำมาใช้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นใช้ดับกลิ่นคาวในเมนูอาหารประเภทต้มยำ ต้มข่า ต้มแซ่บ หรือโขลกทำเป็นเครื่องแกงอีกทั้งยังสามารถรับประทานเป็นผักแกล้มคู่กับน้ำพริก หรือใช้เป็นส่วนผสมที่อยู่ในเมนูข้าวยำของคนปักษ์ใต้เป็นต้น ในตำรายาสมุนไพรแพทย์แผนไทย ได้กล่าวถึงสรรพคุณของข่าที่มีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคต่างๆมากมาย ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยทางฤทธิ์วิทยา ข่ามีฤทธิ์ในการต้านการอักเสบ ช่วยขับน้ำดี เร่งการบีบตัวของลำไส้เล็ก ขับลม นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ฆ่าแบคทีเรียในลำไส้ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการจุกเสียด เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากข่ามีน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นสารประกอบทางเคมี ประกอบไปด้วยสารเมททิล, ซินนาเมต และ ยูจีนอล ที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ต่อระบบกล้ามเนื้อและข้อต่อ ระบบการหายใจ ระบบย่อยอาหาร และระบบผิวหนังในร่างกายมนุษย์

K4

ลักษณะสมุนไพร :
ข่าเป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่งที่มีลำต้นเป็นเหง้าอยู่ใต้ดิน เหง้ามีข้อหรือปล้องที่เห็นเด่นชัด ความสูงของลำต้นที่อยู่บนดินไม่สูงมาก สูงเพียง 2 เมตร ใบเป็นใบเดี่ยวแบบสลับ ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปหอกที่มีปลายเรียวแหลม รูปรี มีความกว้าง 5 – 11 ซม. และ ความยาว 20 – 40 ซม. ขอบใบเรียบ โคนใบแหลมคล้ายสามเหลี่ยม ก้านใบมีขนเล็กน้อย กาบใบแผ่ออกหุ้มลำต้นไว้ ดอกมีขนาดเล็ก เป็นช่อออกที่บริเวณปลายยอด ก้านช่อมีผิวเกลี้ยง ไม่มีขน ความยาว 10 – 30 ซม. ใบประดับเป็นรูปไข่ กลีบเลี้ยงมีสีขาวอมเขียวและมีขน โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน โคนของกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายแยกออกเป็น 3 กลีบ ได้แก่ กลีบบน 1 กลีบ และ กลีบล่าง 2 กลีบ บริเวณโคนกลีบดอกนั้นมีผลสีแดงอมส้ม ขนาดใหญ่ ประมาณ 1 ซม. เป็นรูปทรงกลมหรือรี เมื่อแก่จัดผลจะกลายเป็นสีดำ ภายในผลมีเมล็ดเพียง 2-3 เมล็ด

K3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : เหง้าแก่, ราก, ใบ, ดอก, หน่อ และ ผล

สรรพคุณทางยา :

  1. เหง้าแก่ แก้ปวดท้องจุกเสียดแน่น ขับลม แก้กลากเกลื้อน แก้พิษ แก้บวม แก้ตกเลือด แก้บิด แก้สันนิบาตหน้าเพลิง ขับน้ำคาวปลา
  2. ราก แก้เหน็บชา แก้เสมหะ แก้โลหิต ขับเลือดลม ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี
  3. ใบ ฆ่าพยาธิ แก้ปวดเมื่อยตามข้อ
  4. ดอก แก้ท้องเสีย แก้กลากเกลื้อน ขับลม
  5. หน่อ แก้ลมแน่นหน้าอก บำรุงไฟธาตุ
  6. ผล ช่วยย่อยอาหาร แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ปวดท้อง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ แก้บิด

 K1

วิธีการใช้ :

  1. ลดอาการฟกบวม ใช้เหง้าข่า ใส่ในลูกประคบแล้วนำมานวด
  2. ช่วยขับเลือด ขับรก ขับน้ำคาวปลา เอาเหง้าข่ามาตำกับมะขามเปียกและใส่เกลือให้สตรีรับประทานหลังคลอด
  3. แก้ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ แก้ตะคริว นำต้นแก่มาตำผสมน้ำมันมะพร้าว แล้วทาตามกล้ามเนื้อ ตามข้อ
  4. รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง รักษาลมพิษ ใช้เหง้าข่าแก่ เท่าหัวแม่มือ ประมาณ 1 แง่ง ตำให้ละเอียดผสมเหล้าโรง ทาที่เป็นหลายๆ ครั้งจนกว่าจะหาย
  5. แก้ปวดเมื่อยตามข้อ นำใบข่ามาต้มกับน้ำ จากนั้นนำมาอาบหรือแช่ก็ได้
  6. ขับลมแก้ท้องเสีย นำดอกข่ามารับประทานเป็นผักแกล้ม

ถิ่นกำเนิด :
ข่าเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy