ชื่อสมุนไพร : ขี้อ้าย
ชื่อเรียกอื่นๆ : กำจาย (เชียงใหม่), สลิว (ตาก), แสนคำ, แสงคำ, สีเสียดต้น (เลย), หนามกราย (นครราชสีมา), หอมกราย (จันทบุรี), หานกราย (ราชบุรี), เบน (สุโขทัย), มะขามกราย, หามกราย, หนามกราย (ชลบุรี), ประดู่ขาว (ชุมพร), แฟบ, เบ็น (ประจวบคีรีขันธ์), ตานแดง (ประจวบคีรีขันธ์, สุราษฎร์ธานี, สงขลา), คำเจ้า, พระเจ้าหามก๋าย, พระเจ้าหอมก๋าย, ปู่เจ้า, ปู่เจ้าหามก๋าย, สลิง และ ห้ามก๋าย (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia nigrovenulosa Pierre
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : SMILACACEAE
ขี้อ้ายเป็นพรรณไม้ที่มีในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าคืนสภาพ ป่าดงดิบแล้งบนเขาหินทรายและหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1,000 เมตร ชอบแสงแดดจัด ไม้ขี้อ้ายเป็นไม้เนื้อแข็งค่อนข้างหนัก สามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ทำเครื่องเรือน เฟอร์นิเจอร์ ต่อเรือ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือกสิกรรมได้ เปลือกต้นมีรสฝาด นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ใช้กินกับหมากแทนสีเสียดได้ หรือใช้เป็นสีย้อมผ้า โดยจะให้สีเหลือง น้ำยางใช้หยอดประทานด้ามมีดแทนครั่ง
ลักษณะสมุนไพร :
ขี้อ้ายเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 5-25 เมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ส่วนโคนต้นที่มีพูพอนขนาดเล็ก มักมีกิ่งย่อยรอบๆ ลำต้นทางด้านล่าง และจะร่วงโรยไปเมื่อแก่ เมื่อสับจะมียางสีแดงส้มชัดเจน เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา และมีรอยแตกตามยาวแบบตื้นๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันหรือออกเกือบตรงกันข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้าหากันเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมหนึ่งคู่ที่บริเวณขอบใบใกล้ๆ กับโคนใบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ ใบอ่อนปกคลุมไปด้วยขนสีน้ำตาลหนาอ่อนหนาแน่น ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ออก 3-6 ช่อ ตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยแบบช่อเชิงลด ขนาดยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร แกนกลางช่อมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกย่อยช่อเชิงลดยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร แต่ละช่อมีดอกประมาณ 4-5 ดอก ดอกเป็นสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม มีใบประดับเป็นรูปเส้นด้าย ยาวได้ประมาณ 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงที่โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ผลเป็นแบบผลผนังชั้นในแข็ง ลักษณะของผลเป็นรูปกระสวย ขอบขนาน หรือเบี้ยว ผลมีปีก 3 ปีก ปีกบาง แต่ละปีกทำมุมเกือบเท่ากัน สีน้ำตาลอ่อน เปลือกผลเหนียว ผิวเกลี้ยง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : รากเหง้า, เปลือกต้น, เถา, หัว และ ยอด
สรรพคุณทางยา :
- เปลือก ยาบำรุงหัวใจ แก้ปากเปื่อย ยากล่อมเสมหะและอาจม ยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคบิด แก้บิดปวดเบ่ง ยาขับปัสสาวะ ยาคุมธาตุและให้อุจจาระเป็นก้อน แก้อุจจาระเป็นฟอง ชะล้างบาดแผลเรื้อรังและช่วยห้ามเลือด
- ผล ยาแก้เสมหะเป็นพิษ ยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคบิด แก้บิดปวดเบ่ง แก้อาการท้องร่วงอย่างแรง เป็นบิด ปวดเบ่ง ท้องเดิน ยาแก้อุจจาระเป็นมูกเลือด
วิธีการใช้ :
- ยาบำรุงหัวใจ ยากล่อมเสมหะและอาจม ยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคบิด แก้บิดปวดเบ่ง ยาขับปัสสาวะ ยาคุมธาตุและให้อุจจาระเป็นก้อน แก้อุจจาระเป็นฟอง นำเปลือกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ปากเปื่อย นำเปลือกใช้กินกับหมาก แก้ปากเปื่อย
- ชะล้างบาดแผลเรื้อรังและช่วยห้ามเลือด นำเปลือกมาต้มกับน้ำชะล้างบาดแผลเรื้อรังและช่วยห้ามเลือด
- ยาแก้เสมหะเป็นพิษ ยาแก้ท้องร่วง รักษาโรคบิด แก้บิดปวดเบ่ง แก้อาการท้องร่วงอย่างแรง เป็นบิด ปวดเบ่ง ท้องเดิน ยาแก้อุจจาระเป็นมูกเลือด นำผลมารับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
ขี้อ้ายเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน และในคาบสมุทรมลายู
.