ชื่อสมุนไพร : ขนุน
ชื่อเรียกอื่นๆ : ขะนู (ชอง-จันทบุรี), ขะเนอ (เขมร), ซีคึย, ปะหน่อย (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), นะยวยซะ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), นากอ (มลายู-ปัตตานี), เนน (ชาวบน-นครราชสีมา), มะหนุน (ภาคเหนือ,ภาคใต้), ล้าง,ลาน (ฉาน-เหนือ), หมักหมี้ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) และ หมากกลาง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Artocarpus heterophyllus Lam.
ชื่อสามัญ : Jack fruit tree
วงศ์ : MORACEAE
ต้นขนุนเป็นพืชที่นิยมปลูกกันตามบ้านเรือน เนื่องจากขนุนถือเป็นไม้มงคลที่ช่วยเกื้อหนุนให้ร่ำรวยและมีคนอุปถัมภ์ อีกทั้งขนุนยังเป็นผลไม้ที่นิยมรับประทานกันอย่างมาก เนื้อขนุนสุกใช้รับประทานสดหรือใช้ทำขนมได้หลายชนิด นอกจากนี้ยังสามารถนำเอาส่วนต่างๆของต้นขนุนมาใช้เป็นยารักษาโรคได้มากมาย เช่น รักษาแผลมีหนอง รักษากามโรค ช่วยบำรุงกะลัง และขับน้ำนม เป็นต้น
ขนุนถือเป็นผลไม้ที่มีผลค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักต่อผลมีตั้งแต่ 5-50 กิโลกรัม เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตั้งแต่ช่วงเดือน มกราคม-พฤษภาคม เริ่มให้ผลเมื่ออายุประมาณ 4 ปี และสามารถเก็บผลไปได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 25 ปี เจริญได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี
ลักษณะสมุนไพร :
ขนุนเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ สูงประมาณ 15 – 30 เมตร ลำต้นมีเปลือกสีน้ำตาลแกมแดงเรื่อ เมื่อมีบาดแผลที่กิ่งจะมีน้ำยางสีขาวข้นไหลออกมา ใบเป็นใบเดี่ยว สีเขียวเข้ม เรียงสลับ ลักษณะรี ขนาดกว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 10 – 15 เซนติเมตร เนื้อใบหนา หูใบเล็ก ขอบเรียบ ปลายใบมนถึงแหลม โคนค่อนข้างสอบแคบและเป็นครีบเล็กน้อย ผิวใบด้านบนเป็นมันแต่ผิวด้านล่างสากมือ เส้นใบมี 6-10 คู่ ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ ดอกสีเขียวสด แยกเพศอยู่รวมกัน ดอกเพศผู้เรียกว่า “ส่า” มีจำนวนมาก ลักษณะเป็นกระบองแคบ ขนาดกว้าง 8-28 มม. ยาว 25-70 มม.กลีบรวมมีลักษณะคล้ายใบประดับ มักออกตามปลายกิ่ง เมื่อบานมีกลิ่นคล้ายน้ำตาลไหม้ ดอกเพศเมียมี 1-2 ช่อ ลักษณะทรงกระบอก แข็งและใหญ่กว่าดอกเพศเมีย ออกตามกิ่งใหญ่และตามลำต้นบริเวณง่ามใบที่ต่ำที่สุด ยอดเกสรเพศเมีย เป็นหนามแหลม ผลมีสีเขียวอมเหลือง ทรงรี ขนาดกว้าง 25-50 ซม. ยาว 30-100 ซม. ผิวเป็นตุ่มรูปกรวยปลายแหลมหรือมน เมื่อผลสุกจะมีกลิ่นหอม ผลย่อยแต่ละผลรวมอยู่ในกลีบสีเหลืองถึงสีส้มสด ภายในผลมีเมล็ดจำนวนมาก ลักษณะเมล็ดค่อนข้างกลม
ขนุนสามารถเจริญเติบโตได้ในทุกสภาพพื้นที่ของประเทศไทย แต่จะเจริญได้ดีในดินร่วนหรือดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี เริ่มให้ผลเมื่ออายุประมาณ 4 ปี และสามารถเก็บผลไปได้ต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 25 ปี
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ยวง, เมล็ด, แก่นของขนุน, ส่าแห้งของขนุน และ ใบ
สรรพคุณทางยา :
- ใบ รสฝาดมัน ใช้รักษาหนองเรื้อรัง และแก้โรคหูน้ำหนวก
- ราก รสหวานอมขม ช่วยแก้อาการท้องร่วง แก้ไข้ แก้ธาตุน้ำกำเริบ บำรุงกำลัง และบำรุงโลหิต
- แก่นและราก รสหวานอมขม บำรุงกำลัง บำรุงโลหิต แก้กามโรค ขับพยาธิ ระงับประสาท และแก้โรคลมชัก
- ยาง รสจืด ฝาดเฝื่อน ช่วยแก้แผลอักเสบ แผลมีหนองเรื้อรัง รักษาโรคซิฟิลิส ขับพยาธิ และขับน้ำนม
- เนื้อหุ้มเมล็ด รสหวานมันหอม ช่วยบำรุงกำลัง และบำรุงหัวใจ
- เนื้อในเมล็ด รสหวานมัน ช่วยบำรุงน้ำนมสำหรับหญิงหลังคลอดบุตร และช่วยบำรุงกำลัง
วิธีการใช้ :
- ขับน้ำนมใช้เมล็ดประมาณ 60-240 กรัม ต้มจนสุก นำมารับประทาน
- บำรุงกำลัง ใช้เนื้อหุ้มเมล็ดสดผสมกับน้ำหวาน รับประทาน
- รักษาแผลมีหนองเรื้อรัง ตำใบสดให้ละเอียดหรือบดใบแห้งให้เป็นผงโรยหรือทาตรงที่เป็นแผล หรืออาจใช้ยางสดทาบริเวณที่บวมอักเสบ
- รักษากามโรค ใช้แกนและรากแห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มน้ำรับประทาน
- รักษาอาการท้องเสีย นำผลอ่อนมาต้ม รับประทานเป็นเป็นผักจิ้ม
ถิ่นกำเนิด :
ขนุนมีถิ่นกำเนิดในเอเชียใต้และแพร่หลายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.