ชื่อสมุนไพร : กุ่มบก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักกุ่ม, กุ่ม, กะงัน, ก่าม, ผักก่าม, สะเบาถะงัน (ภาคอีสาน), เดิมถะงัน และ ทะงัน (เขมร)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Crateva adansonii DC. subsp. trifoliata (Roxb.) Jacobs
ชื่อสามัญ : Sacred Barnar และ Caper Tree
วงศ์ : CAPPARACEAE
กุ่มบกเป็นพืชไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว มีทรงพุ่มสวยงาม ใบและดอกมีมีความงดงามพอที่จะใช้ปลูกเป็นประดับได้ ในประเทศไทยสามารถพบต้นกุ่มได้มากทาภาคใต้และภาคกลาง เช่น จังหวัดกระบี่ ชุมพร พังงา และระนอง มักขึ้นตามที่ดอนและในป่าผลัดใบ และขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่งและการปักชำจัดเป็นสมุนไพรซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนไทยสมัยก่อนมักปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ผล, ใบ, ดอก, เปลือกต้น, กระพี้, แก่น, ราก และ เปลือกราก นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าต้นกุ่มจัดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง เนื่องจากมีความเชื่อว่าการปลูกต้นกุ่มเป็นไม้ประจำบ้านจะช่วยทำให้ครอบครัวมีฐานะมั่นคง เป็นกลุ่มเป็นก้อน เหมือนชื่อของต้นกุ่ม โดยจะนิยมปลูกไว้ทางทิศตะวันตกของบ้าน ทั้งยังมีสรรพคุณทางยาที่โดดเด่นของสมุนไพรชนิดนี้ ก็คือ ช่วยรักษาอาการของโรคผิวหนัง อาการผื่นคัน และกลากเกลื้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
กุ่มบกเป็นไม้ต้นขนาดกลาง มีความสูง 6-10 เมตร ใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบ ก้านใบประกอบมีความยาว 7-9 เซนติเมตร ใบย่อยรูปรีหรือรูปไข่ มีความกว้าง 4-6 เซนติเมตรและความยาว 7.5-11 เซนติเมตร ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบแคบ ขอบใบเรียบ ใบย่อยที่อยู่ด้านข้างโคนใบเบี้ยว แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบย่อยยาว 4-5 มิลลิเมตร ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบใกล้ปลายยอด ก้านดอกมีความยาว 3-7 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปรี เมื่อแห้งมักเป็นสีส้ม กลีบดอกสีขาวอมเขียวแล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือชมพูอ่อน รูปทรงรี มีความกว้าง 0.8-1.5 เซนติเมตร และความยาว 1.2-1.8 เซนติเมตร โคนกลีบเป็นเส้นคล้ายก้าน เกสรเพศผู้สีม่วง มีจำนวน 15-22 อัน ก้านชูอับเรณูมีความยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ก้านชูเกสรเพศเมียมีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร รังไข่ค่อนข้างกลมหรือรี มีจำนวน 1 ช่อง ผลกลมมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร เปลือกมีจุดแต้มสีน้ำตาลอมแดง เมื่อแก่เปลือกจะเรียบ เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้าหรือรูปไตและผิวเรียบ
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, เปลือกต้น และ แก่น
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้มานกษัย อันเกิดแต่กองลม
- ใบ ช่วยขับลม ช่วยฆ่าแม่พยาธิ เช่น พวกตะมอย และทาแก้เกลื้อนกลาก แก้ผื่นคัน
- เปลือกต้น ช่วยขับลม แก้นิ่ง แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง ช่วยคุมธาตุ
- แก่น แก้ริดสีดวง ช่วยบำรุงเลือดในร่างกาย
วิธีการใช้ :
- แก้มานกษัย อันเกิดแต่กองลม นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ช่วยขับลม ฆ่าแม่พยาธิ เช่น พวกตะมอย และทาแก้เกลื้อนกลาก แก้ผื่นคัน นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ นำใบมาตำให้แหลกแล้วทาแก้เกลื่อนกลาก
- ช่วยขับลม แก้นิ่ง แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง ช่วยคุมธาตุ นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ริดสีดวง ช่วยบำรุงเลือดในร่างกาย นำแก่นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
กุ่มบกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น ประเทศออสเตรเลีย ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้
.