กระเจี๊ยบเขียว

ชื่อสมุนไพร : กระเจี๊ยบเขียว
ชื่อเรียกอื่นๆ : กระเจี๊ยบมอญ, กระเจี๊ยบ, มะเขือมื่น, ส้มพม่า, มะเขือหวาย, มะเขือมอญ, มะเขือพม่า, มะเขือละโว้, กระต้าด, ถั่วเละ และ กระเจี๊ยบขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Abelmoschus esculentus Moench
ชื่อสามัญ : โอคร่า (Okra), กอมโบ้ (Gombo), เบนดี (Bendee), Lady’s finger
วงศ์ : MALVACEAE

KJ1

กระเจี๊ยบเขียวหรือกระเจี๊ยบมอญเป็นพืชล้มลุกที่อยู่ในวงศ์เดียวกับกระเจี๊ยบแดง มีอายุประมาณ 1 ปี เจริญเติบโตได้ดีในเขตอากาศกึ่งร้อน คือ มีอุณหภูมิระหว่าง 18-35 องศาโดยประมาณ กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชที่สามารถนำมาเป็นสมุนไพรได้เพราะมีสรรพคุณทางยาอันโดดเด่นที่ช่วยรักษาเกี่ยวกับโรคกระเพาะอาหาร เนื่องจากมีเมือกจำพวกเพ็กตินซึ่งใช้เป็นสารช่วยเคลือบกระเพาะอาหารได้ ฝักของกระเจี๊ยบเขียวเป็นที่นิยมรับประทานกันมากทั้งในประเทศอินเดีย แอฟริกา และทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยนั้นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกกระเจี๊ยบเขียวมากส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง มีหลายจังหวัด ได้แก่ นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร พิจิตร กาญจนบุรี ราชบุรี ระยอง และนครนายก
KJ4
ลักษณะสมุนไพร :
กระเจี๊ยบเขียวเป็นพืชสมุนไพรที่มีลำต้นไม่สูงมาก สูงเพียง 1-2 เมตร ตามลำต้นมีขนหยาบ ใบเป็นใบเดี่ยว คล้ายฝ่ามือเรียงสลับกัน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือค่อนข้างกลม ขนาดกว้าง 10 – 30 เซนติเมตร ปลายหยักแหลม โคนเว้าเป็นรูปหัวใจ มีเส้นใบที่แยกออกจากโคนใบ 3 – 7 เส้น มีขนหยาบบนผิวใบ ดอกมีสีเหลือง ที่โคนกลีบด้านในมีสีม่วงออกแดง ดอกออกตามซอกใบ ภายในดอกมีก้านชูเรณูรวมกันเป็นลักษณะคล้ายหลอด ขนาดยาว 2 – 3 เซนติเมตร และมีอับเรณูเล็กจำนวนมากติดรอบหลอด ก้านเกสรเพศเมียมีลักษณะเรียวยาว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยอดเกสรเพศเมียมีสีม่วงแดง ลักษณะเป็นแผ่นกลมขนาดเล็ก ผลออกเป็นฝัก ลักษณะฝักคล้ายนิ้วมือผู้หญิง หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “lady’s finger” ฝักมีสีเขียวและขนอ่อนปกคลุมทั่วฝัก รูปทรงยาว ปลายเรียว และมีสันนูนเป็นเหลี่ยมตามยาว 5 ถึง 9 เหลี่ยม ขึ้นอยู่กับชนิดพันธุ์ ภายในฝักมีเมล็ดกลมสีขาวเรียงกันเป็นแถวและมีเมือกลื่นอยู่ภายในฝัก ฝักอ่อนมีรสชาติหวาน กรอบอร่อย ส่วนฝักแก่จะมีเนื้อเหนียวมากขึ้น
KJ5
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ฝัก (ผล) 
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก ใช้แก้ซิฟิลิส และล้างแผลพุพอง
  2. ใบ แก้โรคปากนกกระจอก ขับเหงื่อ ลดการอักเสบปวดบวม และทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แห้งแตก
  3. ผล ฝักกระเจี๊ยบนั้นมีสารเมือกพวกเพ็กติน(Pectin), เมือก (mucilage) ซึ่งเกิดจากสารประกอบ acetylated acidic polysaccharide และกรดกาแลคทูโรนิค (galactulonic acid) และกัม (Gum) ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ รักษาความดันให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงสมอง ใช้เป็นยาระบาย แก้โรคพยาธิตัวจี๊ด บำรุงตับ และดีท็อกซ์ลำไส้กำจัดอุจจาระตกค้าง

 KJ2

วิธีการใช้ :

  1. รักษาโรคซิฟิลิส นำรากมาต้มกับน้ำ โดยรับประทานน้ำต้มราก
  2. ล้างแผลและแผลพุพอง นำรากมาคั้นกับน้ำ แล้วนำน้ำที่คั้นมาล้างแผลพุพอง
  3. แก้ปากนกกระจอก ขับเหงื่อ นำใบมาตากแห้งและนำมาป่นเป็นผงโรยอาหาร และชูรสอาหาร
  4. ลดการอักเสบปวดบวม ทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แห้ง นำผลอ่อนฝานบางๆ ให้ยางออก มาพอกผิวหนังที่รู้สึกแสบร้อน ทาแผล แผลจะหายไวและไม่เป็นแผลเป็น มีเมือกลื่นทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นไม่แห้ง
  5. ลดอาการแผลในกระเพาะอาหาร บำรุงสมอง ยาระบาย สามารถแก้โรคพยาธิตัวจี๊ด บำรุงตับ และดีท็อกซ์ลำไส้อุจจาระตกค้าง รับประทานฝักกระเจี๊ยบเขียวสด หรือ ใช้ลวกจิ้มรับประทานเป็นเครื่องเคียงกับน้ำพริก และปรุงอาหารได้หลายชนิด

 KJ3

ถิ่นกำเนิด :
กระเจี๊ยบเขียวนั้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบ แอฟริกาตะวันตก ประเทศซูดาน

 

.

©2024 ThaiHerbal.org | แหล่งเรียนรู้ข้อมูลสมุนไพร WordPress Video Theme by WPEnjoy