ชื่อสมุนไพร : เจตมูลเพลิงแดง
ชื่อเรียกอื่นๆ : ปิดปีแดง (เลย), ปิดปิวแดง (ภาคเหนือ), ไฟใต้ดิน (ภาคใต้), ตอชูกวอ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), ตั้งชู้โว้ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), คุ้ยวู่ (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), อุบ๊ะกูจ๊ะ (มลายู- ปัตตานี), จื่อเสี่ยฮวา, หงฮวาตัน (จีนกลาง) และ เจ็ดหมุนเพลิง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plumbago indica Linn.
ชื่อสามัญ : Rose-colored Leadwort, Rosy Leadwort, Fire Plant, Official Leadwort และ Indian Leadwort
วงศ์ : PLUMBAGINACEAE
เจตมูลเพลิงแดงเป็นพืชล้มลุกที่มีอายุหลายปีและถือเป็นสมุนไพรเก่าแก่ชนิดหนึ่งของไทยและอินเดียที่มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรรสร้อน จึงจัดเป็นสมุนไพรประจำธาตุไฟ ในตำรายามาตรฐานของการแพทย์แผนไทยรวมทั้งหมอยาตระกูลไตทั้งหมดทั่วโลกต่างรู้จักและนำมาใช้ประโยชน์เมื่อกว่าเกือบพันปีมาแล้ว โดยเฉพาะส่วนของรากที่มีความสำคัญ โดยรากเจตมูลเพลิงแดงเมื่อมีอายุ 3 ปี ขึ้นไปนิยมมาทำเป็นยาเลือดบำรุงกำลัง หรือใช้ผสมในยาบำรุงสำหรับสตรีหลังคลอด รวมถึงในตำรับยาปรับธาตุด้วย แต่ต้องระวังยางจากรากเจตมูลเพลิงแดง หากถูกผิวหนังจะทำให้ไหม้พองเหมือนโดนเพลิงไฟ อีกทั้งต้นเจตมูลเพลิงแดงยังมีสารสำคัญ ก็คือสาร Plumbagin ซึ่งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี สอดคล้องกับงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า ตำรับเบญจกูลซึ่งเป็นตำรับยาสมุนไพรที่มีรากเจตมูลเพลิงแดงเป็นหนึ่งในส่วนผสม สามารถต้านเซลล์มะเร็งปอดและลำไส้เนื่องจากมีสาร Plumbagin ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งได้ดี แต่สารชนิดนี้มักเสื่อมสลายง่ายในอุณหภูมิปกติ 25 องศาเซลเซียส จึงควรเก็บรักษาสารสกัดไว้ในอุณภูมิต่ำหรือเก็บในตู้เย็น
ลักษณะสมุนไพร :
เจตมูลเพลิงแดงเป็นไม้พุ่มล้มลุกขนาดเล็ก สูงเพียง 1-1.5 เมตร ลำต้นกลมเรียบ กิ่งก้านมักทอดยาว กิ่งอ่อนสีเขียวปนแดงบริเวณข้อมีสีแดง ยอดอ่อนสีแดง ใบมีสีเขียวเป็นใบเดี่ยวออกสลับกันรูปรีแกมรูปไข่ ความกว้าง 3-5 ซม. ความยาว 8-13 ซม. ใบบาง ปลายใบแหลม โคนใบโค้งมน ก้านใบและแกนกลางใบอ่อนมีสีแดง ดอกสีแดงหรือม่วงออกเป็นช่อแบบช่อกระจะเชิงลด ก้านช่อดอกมีดอกจำนวนมากประมาณ 10-15 ดอกออกเป็นช่อตั้งขึ้นที่ปลายกิ่งหรือปลายยอด ใบประดับรูปไข่ขนาดเล็ก ความยาว 0.2-0.3 ซม. เกสรเพศผู้ 5 อันตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูยาวประมาณ 2 มม. รังไข่รูปรี ก้านเกสรเพศเมียมีขนยาวที่โคน กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปใบหอกที่เป็นหลอดเล็ก ความยาว 0.5-1 ซม. มีสีเขียวและมีขนเหนียวๆปกคลุม หากจับจะรู้สึกเหนียวติดมือ ผลลักษณะเป็นฝักกลมๆหรือทรงรียาว ผลแห้งเมื่อแก่จะแตกตามร่อง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ต้น, ใบ, ดอก และ ผล
สรรพคุณทางยา :
- ราก ต้านโรคมะเร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับประจำเดือน เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะ
- ต้นแก้กำเดา ยาขับประจำเดือนของสตรี แก้ฝีบวม ฝีบวมอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ แก้เคล็ดขัดยอก
- ใบ ยาบำรุงกำลัง ช่วยขับลม ช่วยขับเสมหะ ช่วยในการย่อยอาหาร
- ดอก แก้โรคหนาวเย็นรักษาโรคตา
- ผล แก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี
วิธีการใช้ :
- ต้านโรคมะเร็ง ช่วยเจริญอาหาร แก้ธาตุพิการ เป็นยาบำรุง เป็นยาขับประจำเดือน เป็นยาฆ่าเชื้อโรค รักษาโรคผิวหนังกลากเกลื้อน รักษากามโรค โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ อัมพาต อาการไอ และขับเสมหะ นำรากมาอบแห้งต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ฝีบวม ฝีบวมอักเสบ แก้อาการฟกช้ำ แก้เคล็ดขัดยอก นำต้นสดมา 20 กรัม ตำให้แหลกผสมกับเกลือเล็กน้อย ใช้เป็นยาพอกบริเวณที่เป็นฝีจนเริ่มรู้สึกว่าร้อนแล้วให้เอาออก
- ยาบำรุงกำลัง ช่วยขับลม ช่วยขับเสมหะช่วยในการย่อยอาหาร นำใบนำมาป่นผสมกับพริกไทย ขมิ้นดำ ดีปลี และไพล แล้วปั้นเป็นลูกกลอน
- แก้โรคหนาวเย็น รักษาโรคตา นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้พยาธิผิวหนัง แก้ฝี นำผลมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น
ถิ่นกำเนิด :
เจตมูลเพลิงแดงเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย
.