ชื่อสมุนไพร : ฟักข้าว
ชื่อเรียกอื่นๆ : มะข้าว (แพร่), ขี้กาเครือ (ปัตตานี), พุกู้ต๊ะ (แม่ฮ่องสอน) และ ผักข้าว (ตาก ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng.
ชื่อสามัญ : Baby Jackfruit, Cochinchin Gourd, Spiny Bitter Gourd และ Sweet Gourd
วงศ์ : CUCURBITACEAE
ฟักข้าวเป็นไม้เลื้อยตามต้นไม้หรือตามรั้วบ้านที่อยู่ใกล้ตัว สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหรือแยกรากปลูก ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งพบว่าใน 1 ฤดูกาลจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากถึง 30-60 ผล ส่วนใหญ่นิยมนำฟักข้าวมาประกอบอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการนำผลอ่อนไปต้มหรือนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปทำเป็นแกงส้มลูกฟักข้าว แม้กระทั่งยอดอ่อนที่มีกลิ่นคล้ายใบมะระสามารถทำเมนูแกงเลียง แกงส้ม ผัดไฟแดง คั่วแค ใช้ลวกหรือต้มกินกับน้ำพริกก็ได้ นอกจากจะนำมาประกอบอาหารแสนอร่อยแล้ว ยังพบว่ามีสรรพคุณต้านโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลที่พบว่าสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อเอชไอวีและยับยั้งเซลล์มะเร็งจนนำไปสู่การจดสิทธิบัตรเป็นเรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงงานวิจัยอื่นๆก็เช่นเดียวกัน โดยเมล็ดแก่มีโปรตีนที่ยับยั้งการทำงานของไรโบโซมในการผลิตกรดอะมิโน และต้านการเจริญของเซลล์มะเร็งหลายชนิดในหลอดทดลอง นอกจากนี้คณะเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ร่วมศึกษาเรื่องการนำน้ำมันของเยื่อหุ้มเมล็ดฟักข้าวในอนุภาคไขมันระดับนาโนมาพัฒนาเป็นเครื่องสำอางลดเลือนริ้วรอยได้อีกด้วย
ลักษณะสมุนไพร :
ฟักข้าวเป็นพืชไม้ประเภทล้มลุกโดยเป็นเถาเลื้อยและมีมือเกาะลักษณะแบบเดียวกับตำลึง ใบเป็นใบเดี่ยวที่มีรูปหัวใจหรือรูปไข่ ลักษณะรูปร่างคล้ายใบโพธิ์ ความกว้างและความยาวเท่ากันประมาณ 6-15 เซนติเมตร ขอบใบหยักเว้าลึกเป็นแฉกประมาณ 3-5 แฉก ดอกจะออกบริเวณข้อต่อระหว่างใบหรือตามบริเวณซอกใบ โดยออกข้อละหนึ่ดอกที่มีลักษณะคล้ายกับดอกตำลึง กลีบดอกมีขาวอมเหลืองหรือขาวแกมเหลือง ก้านเกสรและกลีบละอองมีสีม่วงแกมดำหรือน้ำตาลแกมม่วง ใบเลี้ยงประดับมีขนเล็กน้อย โดยดอกจะเป็นดอกแบบไม่สมบูรณ์เพศซึ่งแยกแป็นดอกดอกเพศผู้และดอกเพศเมียและจะอยู่ต่างต้นกัน ดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กปลายใบมน ดอกเพศผู้จะมีสีเหลือง มีกลีบดอก 5 กลีบ ส่วนดอกเพศเมียจะมีขนาดเล็กกว่า ผลของฟักข้าวจะมีลักษณะคล้ายรูปไข่รูปร่างกลมรี ที่เปลือกมีหนามเล็กๆอยู่รอบผล ผลอ่อนจะมีสีเขียวอมเหลือง เจริญได้เองโดยไม่ต้องถูกผสม เมื่อผลสุกจะมีสีแดงหรือแดงอมส้ม ผลสุกเนื้อจะเป็นสีเหลือง มีเยื่อกลางหุ้มเมล็ดเป็นสีแดง ภายในมีเมล็ดจำนวนมากโดยเรียงตัวกันคล้ายเมล็ดแตง
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ผล และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :
- ราก ช่วยถอนพิษไข้ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้เข้าข้อ อาการปวดตามข้อ
- ใบ ช่วยแก้ไข้ตัวร้อนแก้ริดสีดวงแก้อาการปวดหลัง ช่วยถอนพิษอักเสบ แก้พิษ แก้ฝี ช่วยแก้หูด
- ผล ชะลอวัย ป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ปัญหาผิวแห้งกร้าน ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ป้องกันโรคหัวใจ ยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอดส์ ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอดส์
- เมล็ด แก้ท่อน้ำดีอุดตัน ช่วยขับปัสสาวะ แก้อาการอักเสบ อาการบวม รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ผดผื่นคันต่างๆ แก้อาการฟกช้ำ
วิธีการใช้ :
- ช่วยถอนพิษไข้ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้เข้าข้อ อาการปวดตามข้อ นำรากมาต้มเอาน้ำดื่มรับประทาน
- ช่วยแก้ไข้ตัวร้อน แก้ริดสีดวง แก้อาการปวดหลัง ช่วยถอนพิษอักเสบ แก้พิษ แก้ฝี ช่วยแก้หูด นำใบมาต้มเอาน้ำดื่มรับประทาน
- ชะลอวัย ป้องกันการเกิดริ้วรอยแห่งวัย ปัญหาผิวแห้งกร้าน ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ป้องกันโรคหัวใจ ยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือด ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอดส์ ยับยั้งการเจริญของเชื้อเอดส์ นำผลมารับประทานสดๆ หรือทำน้ำฟักข้าว ดื่มรับประทาน หรือนำมาต้มหรือนึ่งจิ้มกินกับน้ำพริก หรือนำไปใส่แกงต่างๆ
- แก้ท่อน้ำดีอุดตัน ช่วยขับปัสสาวะ นำเมล็ดมาต้มเอาน้ำดื่มรับประทาน
- แก้อาการอักเสบ อาการบวม รักษากลากเกลื้อน โรคผิวหนัง ผดผื่นคันต่างๆ แก้อาการฟกช้ำ นำเมล็ดแก่นำมาบดให้แห้ง ผสมน้ำมันหรือน้ำส้มสายชูเล็กน้อย นำมาใช้ทาบริเวณที่มีอาการ
ถิ่นกำเนิด :
ฟักข้าวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า ไทย ลาว เขมร เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบังกลาเทศ
.