ชื่อสมุนไพร : คำรอก
ชื่อเรียกอื่นๆ : หมาตายทากลาก, หำฟาน (เชียงใหม่), อุ่นขี้ไก่ (ลำปาง), ตานนกกดน้อย, ประดงเลือด (สุโขทัย), กะโรงแดง, ช้างน้าว, จันนกกด, จับนกกรด (นครราชสีมา), ตานนกกดน้อย (สุรินทร์), กะโรงแดง, จันนกกด, ช้างน้าว (ราชบุรี), กะโรงแดง, หมาตายทากลาก (ภาคตะวันออก), ตานนกกรดตัวเมีย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) และ ตานกกด
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ellipanthus tomentosus Kurz var. Tomentosus
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : CONNARACEAE
คำรอกเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พบได้ในพม่า อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย ส่วนในประเทศไทยพบได้มากทางภาคเหนือ โดยมักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ชายป่าดิบ และป่าพรุ ที่ความสูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ 800 เมตร ประโยชน์ของคำรอกส่วนใหญ่เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องจักสาน เครื่องมือการเกษตร เครื่องมือใช้สอยต่างๆ และใช้ทำเชื้อเพลิงได้ดี
ลักษณะสมุนไพร :
คำรอกเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงของได้ประมาณ 12-20 เมตร ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน เรือนยอดเป็นรูปพุ่มไข่หรือแผ่เป็นพุ่มแคบ เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลแดงหรือสีเทา แตกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น และเป็นสะเก็ดหนา ตามกิ่งก้านอ่อนมีขนละเอียดสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีค่อนข้างยาวหรือรูปรีถึงรูปใบหอก ปลายใบมนถึงเรียวแหลม โคนใบสอบถึงกลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3.5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-18 เซนติเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบด้านบนมีขนขึ้นตามเส้นกลางใบ ส่วนผิวใบด้านล่างมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงสั้นหนานุ่มทั่วไป มีหนาแน่นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบมีข้างละ 6-10 เส้น ปลายจรดกันใกล้ขอบใบ ปลายก้านใบมีข้อ ใบมีลักษณะลู่ลง ดอกเป็นช่อแยกแขนงตามซอกใบ ก้านช่อดอกสั้น มีขนขึ้นหนาแน่น ดอกส่วนมากเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียวอ่อน ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่ปลายทู่หรือแหลม แยกกัน ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม ปลายผลแหลม ผลมีขนาดยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ผิวผลมีขนละเอียดสีน้ำตาลแดงขึ้นหนาแน่น มีก้านผลสั้น ผลอ่อนเป็นสีเขียว ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล เปลือกผลบางไม่มีเนื้อผล พอแก่แล้วจะแตกออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดเป็นสีดำเป็นมัน ลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มแดงคล้ายกับตาของนกกรด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เนื้อไม้, เปลือกต้น และ ลำต้น
สรรพคุณทางยา :
- ราก ยาบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต
- เนื้อไม้ ยาบำรุงกำลัง ยาแก้กระษัย เป็นยาถ่ายพิษเสมหะและโลหิต ยาแก้ปวดท้อง ช่วยคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง ยาแก้ท้องผูก ยาขับปัสสาวะ แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ รักษาอาการไตพิการ
- ลำต้น ยาช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยเจริญอาหาร ยาแก้หอบหืด ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยป้องกันอาการท้องอืด ยาแก้ปวดท้องเกร็งหรือรักษาอาการบีบเกร็งของช่องท้อง
- เปลือกต้น ยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะ
วิธีการใช้ :
- ยาบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต นำรากคำรอกใช้ผสมกับรากตาไก้ และรากตากวง นำมาต้มกินเป็นยาบำรุงร่างกาย บำรุงโลหิต
- ยาบำรุงกำลัง ยาแก้กระษัย เป็นยาถ่ายพิษเสมหะและโลหิต ยาแก้ปวดท้อง ช่วยคลายอาการเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง ยาแก้ท้องผูก ยาขับปัสสาวะ แก้โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ รักษาอาการไตพิการ นำเนื้อไม้มาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาช่วยเรียกน้ำย่อย ช่วยเจริญอาหาร ยาแก้หอบหืด ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยป้องกันอาการท้องอืด ยาแก้ปวดท้องเกร็งหรือรักษาอาการบีบเกร็งของช่องท้อง นำลำต้นนำมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะ นำเปลือกต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
คำรอกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในพม่า อินเดีย ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย
.