ชื่อสมุนไพร : กระทือ
ชื่อเรียกอื่นๆ : เฮียวแดง (แม่ฮ่องสอน), กระทือป่า, กะแวน, กะแอน, แสมดำ, เฮียวดำ, แฮวดำ (ภาคเหนือ), ทือ และ กะทือ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Zingiber zerumbet (L.) Smith.
ชื่อสามัญ : Shampoo Ginger และ Wild Ginger
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
กระทือเป็นพืชที่มีกลิ่นหอม รสขมขื่น ปร่า และเผ็ดเล็กน้อย ต้นจะโทรมในหน้าแล้งแล้วจะงอกขึ้นใหม่ในหน้าฝน ซึ่งขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เหง้าหรือที่เรียกว่าหัว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุยในที่ที่มีความชื้นพอสมควร และมีแสงแดดส่องตลอดวัน ส่วนใหญ่พบมากในภาคใต้ ตามป่าดงดิบ ริมลำธารหรือชายป่า นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เพื่อความสวยในสถานที่ต่างๆ โดยดอกกระทือนั้นสามารถนำไปใช้ปักแจกันเพื่อความสวยงามได้ พบว่าพืชชนิดนี้จะมีสารอาหารน้อย แต่ก็มีการนำไปประกอบอาหาร ซึ่งเนื้อในจะมีรสขมขื่นเล็กน้อย ต้องนำมาหั่นแล้วขยำกับน้ำเกลือนานๆ ก่อนนำมารับประทาน โดยทางภาคใต้นำเหง้าไปแกงกับปลาย่างเพื่อใช้รับประทาน ส่วนหน่ออ่อนหรือต้นอ่อนกระทือ สามารถนำมาทำแกงเผ็ด แกงไตปลา หรือนำไปต้มจิ้มกินกับน้ำพริกได้ ซึ่งหากสกัดกระทือด้วยเมทธิลแอลกอฮอล์ สามารถนำมาใช้ป้องกันและกำจัดเหาได้เป็นอย่างดี โดยได้ผลดีกว่าขมิ้นชัน ขิง และไพล
ลักษณะสมุนไพร :
กระทือเป็นไม้ล้มลุก มีลำต้นอยู่เหนือดินสูงราว 0.9-1.5 เมตร และมีเหง้าอยู่ใต้ดินเรียกว่า “เหง้ากระทือ” หรือ “หัวกระทือ” เปลือกนอกของเหง้ามีสีน้ำตาลแกมเหลือง ส่วนเนื้อในมีสีเหลืองอ่อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับในระนาบเดียวกัน ใบสีเขียวเข้ม ลักษณะของใบค้ลายรูปหอกแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบและแผ่นใบเรียบ ด้านล่างของใบมักมีขนนุ่ม ใบกว้างประมาณ 5-8 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร ที่ก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อแทงออกมาจากเหง้าขึ้นมา ลักษณะของช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก มีกลีบดอกสีขาวนวลออกเหลือง มีใบประดับขนาดใหญ่สีเขียวแกมแดงเรียงซ้อนกันหนาแน่นและเป็นระเบียบ โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ดอกจะบานไม่พร้อมกัน ผลมีลักษณะเป็นเมล็ดสีดำ ผลค่อนข้างกลม ผลแห้งแตก ติดอยู่ในประดับ และมีเนื้อสีขาวบางหุ้มเมล็ดอยู่
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, เหง้า, ต้น, ใบ และ ดอก
สรรพคุณทางยา :
- ราก แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้ต่างๆ แก้ไข้ตัวร้อน แก้เคล็ดขัดยอก
- เหง้า บำรุงน้ำนม แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด บิดป่วงเบ่ง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ขับผายลม ขับปัสสาวะ แก้จุกเสียด แก้เสมหะเป็นพิษ ขับน้ำย่อย เจริญอาหาร เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ฝี
- ต้น แก้เบื่ออาหาร ช่วยเจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมีรส แก้ไข้
- ใบ ขับเลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ แก้เบาเป็นโลหิต
- ดอก แก้ไข้เรื้อรัง ผอมแห้ง ผอมเหลือง บำรุงธาตุ แก้ลม
วิธีการใช้ :
- แก้ไข้ตัวเย็น แก้ไข้ต่างๆ แก้ไข้ตัวร้อน แก้เคล็ดขัดยอก นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- บำรุงน้ำนม แก้ปวดมวนในท้อง แก้บิด บิดป่วงเบ่ง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง ขับผายลม ขับปัสสาวะ แก้จุกเสียด แก้เสมหะเป็นพิษ ขับน้ำย่อย เจริญอาหาร เป็นยาบำรุงกำลัง แก้ฝี นำเหง้ามาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้เบื่ออาหาร ช่วยเจริญอาหาร ทำให้รับประทานอาหารมีรส แก้ไข้ นำต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ขับเลือดเน่าร้ายในเรือนไฟ แก้เบาเป็นโลหิต นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้ไข้เรื้อรัง ผอมแห้ง ผอมเหลือง บำรุงธาตุ แก้ลม นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
กระทือเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย
.