ชื่อสมุนไพร : กระดึงช้างเผือก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ขี้กาลาย, มะตูมกา (นครราชสีมา), ขี้กาแดง (ราชบุรี), กระดึงช้าง, กระดึงช้างเผือก (ประจวบคีรีขันธ์), ขี้กาขม (พังงา), ขี้กาใหญ่ (สุราษฎร์ธานี), มะตูมกา (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขี้กา (ภาคกลาง), กระดึงช้าง (ภาคใต้) และ เถาขี้กา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trichosanthes tricuspidata Lour.
ชื่อสามัญ : –
วงศ์ : CUCURBITACEAE
กระดึงช้างเผือกเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยไปตามผิวดินขนาดใหญ่ สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณทั่วๆไป และในต่างประเทศสามารถพบได้ที่จีนตอนใต้ อินเดีย พม่า และในภูมิภาคอินโดจีน พืชชนิดนี้นั้นมีสรรพคุณทางยามากมายโดยเน้นที่ยาแก้ไข้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นส่วนของ ราก ดอก หรือแม้กระทั่งผลก็ตาม แทบทุกส่วนมีสรรพคุณทางยาทั้งหมด
ลักษณะสมุนไพร :
กระดึงช้างเผือกเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยไปตามผิวดินขนาดใหญ่ เถามีลักษณะเป็นเหลี่ยมสีเขียวเข้มและมีขนสีขาวสั้นๆ สากมือ แต่ขนจะค่อยๆ หลุดร่วงไปจนเกือบเกลี้ยง และมีมือสำหรับยึดเกาะแยกเป็น 2-3 แขนง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับแบบห่างๆ ลักษณะของใบมีรูปร่างแตกต่างกัน มีตั้งแต่รูปไข่กว้าง รูปเกือบกลม ไปจนถึงเป็นรูปทรง 5 เหลี่ยม โคนใบเว้าเข้าคล้ายรูปหัวใจกว้างๆ ส่วนขอบใบหยักและเว้าลึก 3-7 แห่ง ทำให้ใบมีลักษณะเป็นแฉก 3-7 แฉก โดยแฉกกลางจะยาวที่สุด ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร มีเส้นใบออกจากโคนใบประมาณ 3-7 เส้น ปลายเส้นใบยื่นพันขอบใบออกไปคล้ายหนามสั้นๆ หลังใบเห็นเป็นร่องของเส้นแขนงใบชัดเจน ผิวใบด้านบนสากมือ ด้านล่างมีขนสีออกขาว ก้านใบมีขนหรือเกือบเกลี้ยง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ดอกเพศผู้จะออกเป็นช่อยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร โดยจะออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาว มีใบประดับรูปไข่กลับ ขอบใบประดับหยักแบบซี่ฟันหรือแยกเป็นแฉกตื้นๆ กลีบเป็นรูปหอกป้อมๆ ขอบหยักแบบฟันเลื่อยหรือเว้าถึงแหลม ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ โคนติดกันเล็กน้อย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมหรือรูปขอบขนาน ผลอ่อนเป็นสีเขียวเข้ม มีลายทางเป็นเส้นสีขาวหรือสีเขียวอ่อนตลอดผล ผิวมีขน ผลเมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดงมีลายสีเหลือง ผลมีขนาดประมาณ 3-5 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเขียว มีเนื้อหุ้มเมล็ดสีเทา เมื่อแห้งเนื้อจะโปร่งคล้ายฟองน้ำ ภายในผลมีเมล็ดเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลจำนวนมาก เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแบน
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ดอก, เถา และ ผล
สรรพคุณทางยา :
- ราก ยาบำรุงร่างกาย ยาถ่าย ยาแก้ตับหรือม้ามโต แก้โรคเรื้อน
- ใบ แก้หวัดคัดจมูก แก้โรคผิวหนัง
- ดอก ยาบำรุงกำลัง ยาแก้ไข้
- เถา ยาดับพิษเสมหะและโลหิต ชำระเสมหะให้ตก ยาบำบัดโรคท้องผูกเรื้อรัง ยาบำรุงน้ำดี ยาฆ่าเลือด ไร หิด เหา
- ผล ยาถ่ายพิษตานซาง ยาถ่ายเสมหะ ยาขับพยาธิ ยาแก้ตับปอดพิการ
วิธีการใช้ :
- ยาบำรุงร่างกาย ยาถ่าย ยาแก้ตับหรือม้ามโต นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้โรคเรื้อน นำรากสดใช้ตำผสมกับน้ำมันทาแก้โรคเรื้อน
- แก้หวัดคัดจมูก นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- แก้โรคผิวหนัง นำใบใช้ตำพอกฝี ทาแก้โรคผิวหนัง
- ยาบำรุงกำลัง ยาแก้ไข้ นำดอกมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาดับพิษเสมหะและโลหิต ชำระเสมหะให้ตก ยาบำบัดโรคท้องผูกเรื้อรัง ยาบำรุงน้ำดี นำเถามาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
- ยาฆ่าเลือด ไร หิด เหา นำเถามาต้มกับน้ำ ล้างฆ่าเลือด ไร หิด เหา
- ยาถ่ายพิษตานซาง ยาถ่ายเสมหะ ยาขับพยาธิ ยาแก้ตับปอดพิการ นำผลมารับประทาน
ถิ่นกำเนิด :
กระดึงช้างเผือกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดจีนตอนใต้ อินเดีย พม่า และในภูมิภาคอินโดจีน
.