บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ลำต้นปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยา

ผักเบี้ยหิน


ชื่อสมุนไพร : ผักเบี้ยหิน
ชื่อเรียกอื่นๆ : ผักโขมหิน และ ผักขมหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trianthema portulacastrum Linn.
ชื่อสามัญ :
วงศ์ : AIZOACEAE
PBH2
ผักเบี้ยหินเป็นพรรณไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดเต็มวัน มีความชื้นปานกลาง พบในข้าวไร่และนาดอนพื้นที่นาน้ำฝน ประโยชน์ของผักเบี้ยหินใช้ปรุงเป็นอาหารหรือรับประทานสด ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของผักเบี้ยหินนั้น จากการศึกษาฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผักเบี้ยหินกับหนูทดลอง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดเมทานอลของผักเบี้ยหินสามารถช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูแรทได้อย่างมีนัยสำคัญหลังกินเข้าไป 1 ชั่วโมง และจะออกฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลได้ดีที่สุดหลังกินเข้าไป 4 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูที่เป็นเบาหวานได้เทียบเท่ากับการรักษาโดยใช้ยามาตรฐานที่ใช้ลดน้ำตาลในเลือด



 PBH3

ลักษณะสมุนไพร :
ผักเบี้ยหินเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูกาลเดียว ลำต้นมีลักษณะทอดเลื้อยแผ่ราบปกคลุมดินยาวได้ถึง 1 เมตร หรือมีลักษณะตั้งตรงบ้าง ลำต้นมีลักษณะกลมสดอวบน้ำหรือค่อนข้างเป็นเหลี่ยม ผิวเรียบเกลี้ยงเป็นมัน สีเขียวอมม่วงหรือสีม่วงอมแดงอ่อนๆ ลำต้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ตามกิ่งอ่อนและตามข้อจะมีขนขึ้นปกคุมเล็กน้อย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ รูปไข่กลับ รูปกลม หรือรูปหัวใจ ปลายใบมนเว้า โคนใบแหลมหรือมน ส่วนขอบใบเรียบ ริมขอบใบเป็นสีม่วง แต่ละใบมีขนาดไม่เท่ากัน โดยมีขนาดกว้างประมาณ 1-4.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-5 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว ผิวใบเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ก้านใบยาวได้ประมาณ 5-12 มิลลิเมตร ก้านใบมีลักษณะเป็นร่องเล็กๆ ด้านบน ใบอ่อนและยอดอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย ออกเป็นดอกเดี่ยวตามซอกใบ ด้านซ้ายหรือด้านขวาสลับกันในแต่ละข้อ ดอกจะฝังตัวในหลอดกลีบที่เชื่อมติด กับโคนก้านใบในซอกใบ ไม่มีก้านดอก เมื่อดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 มิลลิเมตร ข้างๆ หลอดกลีบจะมีใบประดับสีม่วงแกมเขียว 2 อัน ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ผลมีลักษณะเป็นฝักรูปถ้วย ส่วนโคนของฝักจะอยู่ตามซอกใบ ฝักมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เปลือกเหนียว ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีแดง แห้งแล้วจะแตก ภายในมีเมล็ดสีดำประมาณ 3-4 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต

 PBH4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ และ ทั้งต้น
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก ช่วยเจริญธาตุไฟ ช่วยแก้ลมอัณฑพฤกษ์ ยาขับเสมหะ ยาถ่าย ช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาเป็นปกติ ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร
  2. ใบ ช่วยแก้อาการเจ็บ แก้เหงือกบวม ช่วยขับระดูขาวของสตรี แก้แผลอักเสบ
  3. ทั้งต้น ยาบำรุงโลหิต ยาขับลม ช่วยแก้โรคท้องมาร เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ยาขับปัสสาวะ ใช้รักษาโรคไต ยาแก้ฟกบวม

 PBH1

วิธีการใช้ :                                     

  1. ช่วยเจริญธาตุไฟ ช่วยแก้ลมอัณฑพฤกษ์ ยาขับเสมหะ ยาถ่าย ช่วยทำให้ประจำเดือนของสตรีมาเป็นปกติ ใช้รักษาโรคริดสีดวงทวาร นำรากมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน
  2. ช่วยแก้อาการเจ็บ แก้เหงือกบวม ช่วยขับระดูขาวของสตรี แก้แผลอักเสบ นำใบมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ ตำพอกแผล
  3. ยาบำรุงโลหิต ยาขับลม ช่วยแก้โรคท้องมาร เยื่อบุช่องท้องอักเสบ ยาขับปัสสาวะ ใช้รักษาโรคไต ยาแก้ฟกบวม นำทั้งต้นมาต้มกับน้ำ ดื่มรับประทาน หรือ ตำพอกแก้ฟกบวม

ถิ่นกำเนิด :
ผักเบี้ยหินเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 





.