บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ดอกปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยา

เปล้าน้อย


ชื่อสมุนไพร : เปล้าน้อย
ชื่อเรียกอื่นๆ : เปล้าท่าโพ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Croton stellatopilosus Ohba
ชื่อสามัญ : Thai Croton
วงศ์ :  EUPHORBIACEAE



 PN1

เปล้าน้อยเป็นไม้พุ่มยืนต้นที่พบในตามป่าเบญจพรรณ เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนที่ระบายน้ำได้ดี ในประเทศไทยพบได้ในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี นครพนม กาญจนบุรี เป็นต้น ต้นเปล้าน้อยเป็นไม้ที่ทนแล้งได้ดี โดยในช่วงหน้าแล้งจะมีการผลัดใบ และจะเริ่มสร้างตาดอกในช่วงปลายฝนต่อฤดูหนาว สรรพคุณอันโดดเด่นที่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปก็คือ การใช้รักษาโรคในระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะในกระเพาะอาหาร เนื่องมาจากใบเปล้าน้อยมีสาร disterpene alcohol (CS-684 หรือ plaunotol) ซึ่งมีฤทธิ์สมานแผลและกระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพราะอาหารได้ดีด้วย สรรพคุณอื่นๆของเปล้าน้อย เช่น ช่วยย่อยอาหาร ขับพยาธิขับโลหิต รักษาโรคท้องเสีย เป็นต้น

PN2

ลักษณะสมุนไพร :

เปล้าน้อยเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่ม สูงประมาณ 1-4 เมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบ มีสีน้ำตาลปนเทา แตกกิ่งก้านตั้งแต่โคนต้น ใบเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบเรียบเป็นมัน สีเขียวเข้ม ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบยาวเรียวคล้ายหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ กลางใบกว้าง ขอบใบเป็นจักคล้ายซี่ฟันเล็กๆ ไม่สม่ำเสมอ ขนาดความยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร ผิวใบมีขนสีสนิมเมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีส้มและขนหายไป ดอกออกเป็นช่อขนาดเล็ก ออกบริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีขนาดเล็ก เป็นดอกแบบแยกเพศ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอกมีสีขาวนวล ลักษณะเป็นเส้น มีประมาณ 10-15 กลีบ เมื่อดอกบานแล้วกลีบดอกจะโค้งไปทางด้านหลัง ผลเปล้าน้อยมีลักษณะเป็นทรงค่อนข้างกลม แบ่งออกเป็นพู 3 พู มีรอยกลีบเลี้ยงติดอยู่ที่ก้นผล เมื่อผลแห้ง เปลือกผลจะมีสีน้ำตาลและแตกได้ง่าย ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ภายใน 1 เมล็ด เมล็ดมีสีน้ำตาล ผิวเรียบ ขนาดกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และมีลายเส้นสีขาวตามแนวยาวหนึ่งเส้น เปล้าน้อยเป็นพันธุ์ไม้ที่สามารถพบได้ตามป่าเบญจพรรณ เจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อน ที่เป็นดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหรือรากไหลเนื่องจากจะได้พันธุ์แท้ หากเพาะเมล็ดอาจกลายพันธุ์ได้

 PN3

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ, ราก, ดอก, ผล, เปลือก และ แก่น
สรรพคุณทางยา :

  1. ใบ ใช้บำรุงธาตุ แก้โรคกระเพาะ บำรุงโลหิตประจำเดือน อีกทั้งในใบยังมีสาร disterpene alcohol (CS-684 หรือ plaunotol) ซึ่งมีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร กระตุ้นการสร้างเนื้อเยื่อทำให้แผลหายเร็วขึ้น ลดการหลั่งกรดในกระเพราะอาหารช่วยรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารได้
  2. ใบและราก ช่วยแก้อาการคัน รักษามะเร็งเพลิง รักษาโรคผิวหนัง รักษากลากเกลื้อน แก้พยาธิ รักษาโรคริดสีดวงทวาร แก้ไอเป็นโลหิตรักษาโรคท้องเสีย บำรุงธาตุ และใช้เป็นยาปฏิชีวนะ
  3. ดอก ช่วยขับพยาธิหรือฆ่าพยาธิได้
  4. ผล แก้โรคน้ำเหลืองเสีย
  5. เปลือก ช่วยย่อยอาหาร รักษาโรคท้องเสียบำรุงโลหิตประจำเดือน และบำรุงธาตุ
  6. แก่น ช่วยกระจายลม แลขับโลหิต

 PN4

วิธีการใช้ :

  1. รักษาโรคกระเพาะอาหาร ใช้ใบสดหรือใบแห้งสองสามใบ โดยหากเป็นใบสดให้เลือกใบที่ค่อนข้างใบอ่อน ส่วนใบแห้งทำได้โดยการนำใบสดไปตากแดดจนแห้ง บดละเอียด นำมาต้มหรือชงน้ำดื่ม

ข้อควรระวัง การใช้สมุนไพรชนิดนี้อาจมีอาการข้างเคียงได้เล็กน้อยในผู้ป่วยบางราย อาการที่พบเช่น มีผื่นขึ้น ท้องเสีย แน่นท้อง ท้องผูก เป็นต้น

ถิ่นกำเนิด :
เปล้าน้อยมีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยในจังหวัดปราจีนบุรีและประจวบคีรีขันธ์

 





.