บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ดอกปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยาสมุนไพรแนะนำ

ส้มแขก


ชื่อสมุนไพร : ส้มแขก
ชื่อเรียกอื่นๆ : ส้มควาย, ส้มมะวน, ชะมวงช้าง, ส้มพะงุน, ส้มมะอ้น และ อาแซกะลูโก
ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia atroviridis
ชื่อสามัญ : Garcinia, Malabar tamarind, Garcinia Cambogia, Gambooge, Brindle berry, Assam fruit
วงศ์ : CLUSIACEAE



SK5

ส้มแขกเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดกลาง ลักษณะเป็นไม้เนื้อแข็งที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ มังคุด และ ชะมวง ถือว่าเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย คนส่วนใหญ่นิยมนำมาประกอบอาหาร และเพิ่มรสเปรี้ยวให้กับอาหาร โดยนำมาปรุงรสแทนผลของมะนาวหรือมะขาม ลักษณะของผลส้มแขก จะคล้ายฟักทองขนาดเล็ก พบมากทางภาคใต้ ผลจากการค้นคว้า พบว่า ผลส้มแขก มีสาร HCA หรือ Hydroxy-citric acid อยู่เป็นจำนวนมาก โดยมีคุณสมบัติในการยับยั้งการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกาย เปลี่ยนไขมันที่สะสม ไว้ให้เป็นพลังงาน และลดความอยากอาหาร ในปัจจุบันจึงเป็นที่นิยมสำหรับควบคุมน้ำหนัก โดยการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ เครื่องดื่มส้มแขกผงสำเร็จรูป เครื่องดื่มส้มแขกชนิดชง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารส้มแขก ยาระบายส้มแขก เป็นต้น เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับความอ้วนหรือต้องการลดการสะสมของไขมันส่วนเกินในร่างกาย โดยสมุนไพรชนิดนี้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติเพื่อสุขภาพอีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจและน่าลงทุน

SK1

ลักษณะสมุนไพร :
ส้มแขกเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มขนาดกลาง ลำต้นของส้มแขกมีขนาดความสูงปานกลางอยู่ราวๆ 5 – 7 เมตร ต้นอ่อนจะมีเปลือกสีเขียว หลังจากกลายเป็นต้นแก่จะมีเปลือกสีน้ำตาลอมดำคล้ายกับต้นชะมวง เมื่อใดที่ลำต้นเป็นแผลจะมียางสีเหลืองไหลออกมาจากลำต้น เนื้อไม้ค่อนข้างแข็ง ลักษณะใบของส้มแขกเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามเป็นคู่ แผ่นใบเรียงกัน ใบใหญ่ผิวเรียบเป็นมัน ใบแคบค่อนข้างยาว ขอบใบเรียบ และปลายใบแหลมมากมองเห็นได้ชัด ขนาดความยาวประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร และขนาดความกว้างประมาณ 4 – 5 เซนติเมตร ขนาดก้านใบค่อนข้างยาว ประมาณ 1 – 2 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีน้ำตาลอมแดง  ใบแห้งจะกลายเป็นสีน้ำตาล ดอกส้มแขกจะออกบริเวณปลายยอด ดอกเพศผู้ มีกลีบเลี้ยงจำนวน 4 กลีบ ด้านนอกมีสีเขียว และด้านในสีแดง ก้านดอก ขนาดความยาว 0.5 – 1.7 เซนติเมตร มีเกสรเพศผู้เรียงกันเป็นวงอยู่บนฐานรองดอก ส่วนดอกเพศเมีย เป็นดอกเดี่ยว แทงออกมาจากปลายกิ่ง โดยมีขนาดเล็กกว่าดอกเพศผู้ รังไข่เป็นรูปทรงกระบอก ผลส้มแขกเป็นผลเดี่ยว ขนาดกว้าง 6 – 7 เซนติเมตร และ ขนาดยาว 4 – 5 เซนติเมตร ผลที่แก่แล้วมีสีเขียว ผลที่สุกมีสีเหลือง ขั้วผลมีความยาว 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดอยู่ 2 ชั้นๆละ 4 กลีบ ทั้ง 2 ชั้นเรียงสลับกัน มีเมล็ดประมาณ 11 – 12 เมล็ด เป็นเมล็ดสมบูรณ์ 2 – 3 เมล็ดต่อผล ภายในเมล็ดมีใบเลี้ยงอวบหนา เนื่องจากมีอาหารสะสมอยู่มาก มีรกอยู่ตรงกลาง เปลือกผลเป็นร่องตามแนวขั้วไปยังปลายผล

 SK2

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ดอก และ ผล 
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก ช่วยแก้กระษัย ใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว
  2. ใบช่วยแก้อาการท้องผูก
  3. ดอก ช่วยแก้อาการไอ เป็นยาขับเสมหะลดความดันรักษาโรคเบาหวาน
  4. ผล ช่วยฟอกโลหิต บรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์ เป็นยาระบายอ่อนๆ มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยลดความอยากอาหาร ความรู้สึกหิวอาหาร ช่วยเร่งระบบการเผาผลาญอาหาร ช่วยดักจับแป้ง และไขมันจากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลำไส้เกิดการเคลื่อนไหวตัวได้เร็วขึ้น และขับไขมันออกมา จึงช่วยลดน้ำหนัก และช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกายได้ ทั้งยังช่วยสกัดกั้นการเปลี่ยนแปลงของคาร์โบไฮเดรต จำพวกแป้ง และน้ำตาลไม่ให้เปลี่ยนเป็นไขมันสะสมตามส่วนต่างๆของร่างกาย แต่เปลี่ยนเป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายไม่อ่อนเพลีย

SK3
วิธีการใช้ :

  1. แก้กระษัย ใช้ทำเป็นยารักษานิ่ว นำมาตากแห้งแล้วต้มกับน้ำ โดยรับประทานน้ำต้มราก
  2. แก้อาการท้องผูก รับประทานใบสดๆ
  3. แก้อาการไอ เป็นยาขับเสมหะ ลดความดัน รักษาโรคเบาหวาน ดอกตัวผู้แห้งต้มกับน้ำ อัตราส่วน 7ดอก ต่อ น้ำ 1 ลิตร และเติมน้ำครั้งที่สอง ใส่ดอก 3 ดอกต่อน้ำ 1 ลิตร โดยไม่ต้องทิ้งดอกที่ต้มในครั้งแรก แล้วนำมาดื่ม
  4. ลดความอยากอาหาร เร่งระบบการเผาผลาญอาหาร ช่วยดักจับแป้ง และไขมัน ลดน้ำหนัก และช่วยลดไขมันส่วนเกินของร่างกาย ช่วยฟอกโลหิต บรรเทาอาการปวดท้องในสตรีมีครรภ์ เป็นยาระบายอ่อนๆ มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะ นำผลไปล้างน้ำให้สะอาด นำมาใส่ลงไปในหม้อต้มกับน้ำดื่ม รับประทานเป็นน้ำต้ม หรือนำมาประกอบอาหารโดยฝานให้เป็นแว่นบางๆ ใส่ในอาหาร เช่น แกงส้ม แกงเลียง ต้มเนื้อ และต้มปลา หรือ นำไปสกัดทำเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน หลายรูปแบบ เช่น แบบผง แบบเม็ด ชาส้มแขก ส้มแขกแคปซูล

 SK4

ถิ่นกำเนิด :
ส้มแขกนั้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย

 





.