บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ลำต้นปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้เมล็ดปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยาสมุนไพรแนะนำ

มะกอก


ชื่อสมุนไพร : มะกอก
ชื่อเรียกอื่นๆ : กอกฤก, กูก, กอกหมอง (เงี้ยว-เชียงใหม่), กอกเขา (ใต้ทางนครศรีธรรมราช), กอก (ใต้), มะกอกดง, ไพแซ,  มะกอกฝรั่ง, หมากกอก, กราไพ้ย, ไพ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะผร่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), มะกอกไทย (ไทลื้อ), มะกอกป่า (เมี่ยน), สือก้วยโหยว (ม้ง), ตุ๊ดกุ๊ก (ขมุ) และ ไฮ่บิ้ง (ปะหล่อง)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias cytherea  Sonn.
ชื่อสามัญ : Hog plum และ Wild Mango
วงศ์ : ANACARDIACEAE



 makok2

มะกอกเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบที่มีผลรสเปรี้ยวอมหวานที่อุดมไปด้วยวิตามินซี ดังนั้นการรับประทานผลมะกอกจึงทำให้ได้ประโยชน์ในด้านการเป็นยาฝาดสมานและช่วยแก้เลือดออกตามไรฟันได้ ผลสุกของมะกอกนิยมใช้เพิ่มรสเปรี้ยวในอาหารอย่างส้มตำ พล่ากุ้ง หรือน้ำพริก ส่วนยอดอ่อนและใบอ่อนก็นิยมรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกปลาร้า เต้าเจี๊ยวหลน ลาบ ก้อย หรือแจ่วป่นต่างๆ  ซึ่งนอกเหนือจากความอร่อยแล้วใบและยอดอ่อนยังมีสรรพคุณในด้านการแก้อาการหูอักเสบ แก้อาการปวดหู บำรุงธาตุ และแก้อาการปวดท้องได้ด้วย นอกจากนี้ส่วนอื่นๆของต้นอย่างเปลือก เมล็ด หรือรากก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างมากมาย เช่น ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ปวดท้อง แก้อาเจียน แก้สะอึก เป็นต้น

Makok1

ลักษณะสมุนไพร :

มะกอกจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงประมาณ 15-25เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านโปร่ง กิ่งมักห้อยลง ลำต้นเป็นท่อนกลม ตั้งตรง เปลือกลำต้นมีสีเทา หนา และมีรูอากาศตามลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับเป็นคู่ มีใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ ลักษณะใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ ขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ก้านใบร่วมยาวประมาณ 12-16 เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง ผิวใบหนา ด้านบนมัน ด้านล่างเรียบเกลี้ยง ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบ ดอกเป็นแบบแยกเพศแต่อยู่บนต้นเดียวกัน ดอกย่อยมีขนาดเล็ก จำนวนมาก กลีบดอกมี 5 กลีบ สีขาว ลักษณะกลีบเป็นรูปรี ปลายแหลม ขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบเท่ากลีบดอก ลักษณะเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก ผลมะกอกมีลักษณะกลมรูปไข่ ฉ่ำน้ำ ขนาดกว้างประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมสีเขียวถึงสีเหลืองอ่อน มีจุดประสีเหลืองและดำ รสเปรี้ยวจัด ภายในผลมีเมล็ดอยู่ภายใน เมล็ดเป็นเมล็ดเดี่ยว ขนาดใหญ่ แข็ง และขนแข็งที่เปลือกหุ้มเมล็ด มักพบต้นมะกอกตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าแดง และป่าดิบแล้งทั่วทุกภาคของประเทศไทย เจริญเติบโตได้ดีในดินแทบทุกชนิด โดยเฉพาะในดินร่วนซุยที่ชุ่มชื่น ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ผล เปลือก ใบ ราก และ เมล็ด

 makok4

สรรพคุณทางยา :

  1. ผล บำบัดโรคธาตุพิการ แก้โรคบิด แก้กระหายน้ำ แก้โรคขาดแคลเซียมใช้เป็นยาฝาดสมาน แก้ดีพิการ แก้โรคเลือดออกตามไรฟัน(โรคลักปิดลักเปิด) และรักษาโรคกระเพาะอาหารพิการ
  2. ใบ แก้หูอักเสบ แก้อาการปวดหู บำรุงธาตุ และแก้อาการปวดท้องหรือท้องเสีย
  3. เปลือก บำรุงธาตุ ช่วยสมานแผล ดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน แก้ปวดมวนท้อง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาเจียน และแก้สะอึก
  4. เมล็ด แก้ร้อนใน แก้หอบ และแก้สะอึก
  5. ราก แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยทำให้ชุ่มคอ และขับปัสสาวะ

 makok3

วิธีการใช้ :

  1. แก้ปวดตามข้อ บดเปลือกให้เป็นผงละเอียด ผสมน้ำ ใช้ทาบริเวณที่ปวด
  2. แก้อาการผิดสำแดง แก้ร้อนใน แก้หอบ สะอึก นำเมล็ดมาเผาไฟ แช่น้ำ กรองเอาแต่น้ำ ดื่มรับประทาน
  3. แก้ปวดหู คั้นน้ำจากใบมะกอกแล้วใช้หยอดหู
  4. แก้เลือดออกตามไรฟัน ต้านอนุมูลอิสระ แก้ธาตุพิการ แก้บิด แก้ดีพิการ ทำให้ชุ่มคอ และแก้กระหาย รับประทานยอดอ่อนและใบเป็นอาหาร

ถิ่นกำเนิด :
มะกอกเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชียแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศอินเดีย มาแลเซีย อินโดนีเซียรวมถึงประเทศไทยด้วย

 





.