บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้เมล็ดปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้ใบปรุงยา

ปอกระเจา


ชื่อสมุนไพร : ปอกระเจา
ชื่อเรียกอื่นๆ : ปอเส้ง, เส้ง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), กาเจา, กระเจา, ประกระเจาฝักกลม (ภาคกลาง), และ ปอ (ภาคตะวันออกเฉียงใต้)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Corchorus capsularis Linn.
ชื่อสามัญ : Jute, Nalta Jute, Tossa Jute, White Jute  และ Jew’s Mallow
วงศ์ : TILIACEAE



PKJ2

ปอกระเจาเป็นเป็นพรรณไม้ที่ในประเทศไทยพบขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี อ่างทอง กรุงเทพฯ พังงา โดยมักขึ้นตามบริเวณที่ชื้นแฉะ ทนทานน้ำท่วมได้ดี เส้นใยจากเปลือกต้นเมื่อลอกออกมาแล้วจะเรียกว่า “ปอ” สามารถนำไปใช้ทอกระสอบเพื่อใส่ผลิตผลทางการเกษตรได้ เช่น ข้าวสาร ข้าวโพด น้ำตาล หรือนำมาใช้ทอเป็นผ้า พรม ทำเยื่อกระดาษ ทำเชือก เป็นต้น นอกจากนี้ลำต้นและแกนปอยังสามารถนำไปผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ตลอดจนไม้เนื้อเบาได้ดีอีกด้วย แต่ยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของตลาดและการแข่งขันกับพืชชนิดอื่น เมล็ดมีสารพิษ และมีความเป็นพิษต่อสุนัข จึงมีการนำเมล็ดไปใช้เป็นยาเบื่อสุนัข ซึ่งสมุนไพรปอกระเจามีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ ลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านเชื้อรา และฆ่าแมลง

 PKJ3

ลักษณะสมุนไพร :
ปอกระเจาเป็นพรรณไม้ล้มลุกขนาดเล็ก อายุได้ 1 ปี มีความสูงได้ประมาณ 1 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวอ่อนหรือแดงเข้ม แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่ม เป็นไม้เนื้ออ่อน มีระบบรากเป็นแบบรากแก้ว ที่ประกอบไปด้วยรากแก้วและรากแขนง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปยาวเรียว ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบอ่อนบาง ที่โคนใบมีเส้นเล็กๆ สีแดงอยู่ 2 เส้น ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกประมาณ 2-3 ดอก โดยจะออกบริเวณระหว่างซอกใบกับกิ่ง ดอกเป็นสีเหลืองมีขนาดเล็ก ออกดอกและติดผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ผลแบบแคปซูล ลักษณะของผลเป็นรูปค่อนข้างกลม เป็นพู 5 พู ผิวผลขรุขระไม่เรียบเกลี้ยง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เมื่อผลแก่เต็มที่ผลจะอ้าหรือแตกออกเป็นซีก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีน้ำตาลอยู่เป็นจำนวนมาก เมล็ดเป็นรูปไข่มี 4-5 เหลี่ยม ด้านหนึ่งค่อนข้างเว้า มีสีน้ำตาล

 PKJ4

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ราก, ใบ, ผล และ เมล็ด
สรรพคุณทางยา :

  1. ราก กระตุ้นหัวใจ แก้โรคท้องเดิน
  2. ใบ ยาบำรุง ช่วยบำรุงธาตุ และช่วยเจริญอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิต แก้ร้อนใน ทำให้เลือดเย็น แก้อาการเจ็บคอ แก้ไข้ ยาแก้ไอ ช่วยรักษาโรคบิด หรืออาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อบิดที่ไม่รุนแรง ยาระบาย แก้อุจจาระเป็นเลือด ขับลม ขับปัสสาวะ ช่วยแก้โรคหนองใน แก้ตับพิการ รักษาแผล ยาระงับพิษ ใช้เป็นยาพอกแก้พิษ แก้บวม ทาแก้ผิวหน้าแดงบวม แก้พาปลาปักเป้า
  3. ผล กระตุ้นหัวใจ แก้โรคท้องเดิน รักษาโรคหายใจไม่สะดวก
  4. เมล็ด แก้ท้องร่วง ยาระบาย

 PKJ1

วิธีการใช้ :

  1. กระตุ้นหัวใจ แก้โรคท้องเดิน นำรากมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
  2. ยาบำรุง ช่วยบำรุงธาตุ และช่วยเจริญอาหาร แก้ไอ ช่วยรักษาโรคบิด หรืออาการท้องเสียที่เกิดจากเชื้อบิดที่ไม่รุนแรง ยาระบาย ช่วยแก้อุจจาระเป็นเลือด ขับลม ขับปัสสาวะ ช่วยแก้โรคหนองใน แก้ตับพิการ รักษาแผล ยาระงับพิษ ใช้เป็นยาพอกแก้พิษ แก้บวม ทาแก้ผิวหน้าแดงบวม แก้พาปลาปักเป้า นำใบแห้งนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาชงหรือนำมาละลายในน้ำกิน
  3. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และความดันโลหิต นำใบมาลวกกับน้ำร้อน นำมาผัดกับกระเทียม พริกไทย รับประทานกับข้าวต้มหรือข้าวสวย หรือใช้ใบที่ตากจนแห้งแล้วประมาณ 1 กำมือ ชงกับน้ำร้อน (แช่นาน 5-10 นาที) นำมาดื่มแทนน้ำทั้งวัน
  4. แก้ร้อนใน ทำให้เลือดเย็น แก้อาการเจ็บคอ แก้ไข้ นำใบแห้งนำมาบดให้เป็นผงละเอียด แล้วนำมาชงกับน้ำกิน
  5. กระตุ้นหัวใจ แก้โรคท้องเดิน รักษาโรคหายใจไม่สะดวก นำผลมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน
  6. แก้ท้องร่วง ยาระบาย นำเมล็ดมาต้มกับน้ำ ต้มรับประทาน

ถิ่นกำเนิด :
ปอกระเจาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีน ญี่ปุ่น พม่า เวียดนาม มลายูภาคใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

 





.