บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ผลปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้รากปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้เมล็ดปรุงยาสมุนไพรแนะนำ

ถั่วฝักยาว


ชื่อสมุนไพร : ถั่วฝักยาว
ชื่อเรียกอื่นๆ ถั่วขาว, ถั่วนา (ภาคกลาง), ถั่วดอก, ถั่วปี และ ถั่วหลา (ภาคเหนือ)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Vigna sesquipedalis Koern.
ชื่อสามัญ : Yard Long Bean
วงศ์ : LEGUMINOSAE



 image

ถั่วฝักยาวเป็นพืชตระกูลถั่วที่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วลันเตา ถั่วลิสง และถั่วพู สำหรับการเพาะปลูกนั้นกระทำได้โดยง่ายจึงสามารถที่จะปลูกพืชชนิดนี้ได้ตลอดทั้งปี โดยส่วนใหญ่มักใช้ประโยชน์ในด้านการปรับปรุงดินให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากรากของถั่วฝักยาวมีคุณสมบัติตรึงไนโตรเจนจากอากาศไว้ในดินได้ และลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของถั่วฝักยาวก็คือเป็นผักที่มีโปรตีนรวมถึงกากใยสูงมากซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณอาหารทำให้รู้สึกอิ่มเร็ว ทั้งยังช่วยให้ระบบการขับถ่ายดีขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่าถั่วฝักยาวมีวิตามินซีในปริมาณมากจึงมีผลให้ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กได้ดี นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือเป็นยาบำรุงไตและม้ามได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเลือกรับประทานแบบสดๆ หรือนำมาประกอบอาหารได้อย่างหลากหลายทั้งต้ม, ผัด, แกง, จิ้มน้ำพริก และตำส้มตำ อย่างไรก็ตามเพื่อความปลอดภัยก่อนที่จะบริโภค ควรล้างให้สะอาดหรือนำมาแช่น้ำเกลือสัก 10 นาทีก่อนนำไปปรุงอาหาร เหตุที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพราะถั่วฝักยาวนั้นเป็นพืชที่ถูกแมลงรบกวนมากจึงทำให้เกษตรกรมีความจำเป็นที่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงในปริมาณที่สูงมากเลยทีเดียว

 image (4)

ลักษณะสมุนไพร :
ถั่วฝักยาวเป็นไม้เลื้อยม้วนพันสิ่งยึดเกาะได้ มีเถาเป็นสีเขียวอ่อนลักษณะแข็งและเหนียวคล้ายกับถั่วพู ลำต้นมีขนเล็กน้อย ใบเป็นใบประกอบลักษณะคล้ายฝ่ามือมีใบย่อย 3 ใบเป็นรูปสามเหลี่ยม ความยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบกว้างมน หูใบมีเส้นเล็กๆอยู่ 2 เส้นอยู่ตรงโคนของก้านใบและติดกับลำต้น ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบโดยช่อหนึ่งช่อจะมีดอกย่อยประมาณ 2-3 ดอก และมีกลีบดอกสีขาวหรือสีน้ำเงินอ่อน คล้ายกับผีเสื้อ ลักษณะของฝักค่อนข้างกลมมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตรและมีความยาวประมาณ 20-80 เซนติเมตร ซึ่งมีเมล็ดอยู่หลายเมล็ดในฝักลักษณะกลมเล็กน้อยคล้ายรูปไต

image (1)

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ใบ, เปลือกฝัก, เมล็ด และ ราก
สรรพคุณทางยา :

  1. ใบ รักษาโรคหนองใน และปัสสาวะเป็นหนอง
  2. เปลือกฝัก รักษาอาการปวดบวม ปวดตามเอว รักษาแผลที่เต้านมช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอเปรี้ยว    
  3. เมล็ด ช่วยแก้กระหาย แก้อาเจียน เป็นยาบำรุงม้ามและไตช่วยแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอยช่วยแก้ตกขาว
  4. ราก รักษาโรคหนองในที่มีหนองไหล บำรุงม้าม รักษาโรคบิด รักษาฝีเนื้อร้าย และช่วยให้เนื้อเจริญเร็วขึ้น แก้อาการเบื่ออาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารทำงานไม่ดี

image (3)

วิธีการใช้ :

  1. รักษาโรคหนองใน และปัสสาวะเป็นหนอง นำใบสดๆประมาณ 60-100 กรัม มาต้มรับประทานเป็นน้ำต้มใบ
  2. รักษาอาการปวดบวม ปวดตามเอว รักษาแผลที่เต้านม นำเปลือกฝักสดๆประมาณ 100-150 กรัม นำมาต้มกินใช้รักษาภายนอก โดยการตำพอก
  3. แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอเปรี้ยว นำฝักสดๆเคี้ยวรับประทาน
  4. แก้กระหาย แก้อาเจียน เป็นยาบำรุงม้ามและไต ช่วยแก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย ช่วยแก้ตกขาว นำเมล็ดตากแห้งประมาณ 30-60 กรัม มาต้มน้ำแล้วรับประทาน หรือรับประทานเมล็ดสดๆ คู่กับเมนูอาหาร
  5. บำรุงม้าม รักษาโรคบิด นำรากสดประมาณ 60-100 กรัม มาต้มกับน้ำ หรือนำรากสดตุ๋นกับเนื้อกิน
  6. รักษาโรคหนองในที่มีหนองไหล รักษาฝีเนื้อร้าย และช่วยให้เนื้อเจริญเร็วขึ้น นำมารักษาภายนอกโดยการตำพอก หรือจะนำมาเผาให้เป็นเถ้า แล้วบดให้เป็นผงละเอียดผสมทา                              
  7. เบื่ออาหาร เนื่องจากกระเพาะอาหารทำงานไม่ดี นำรากสดผสมกับรากเถาตดหมาตดหมู แล้วตุ๋นกับเนื้อวัวกินจะช่วยแก้อาการเบื้ออาการได้                                                                                         

image (2)

ถิ่นกำเนิด :
ถั่วฝักยาวเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีนและอินเดีย

 





.