บทความสมุนไพรสมุนไพรสำหรับใช้ดอกปรุงยาสมุนไพรสำหรับใช้เมล็ดปรุงยา

คำฝอย


ชื่อสมุนไพร : คำฝอย
ชื่อเรียกอื่นๆ : คำ, ดอกคำ (เหนือ), คำยอง (ลำปาง),คำหยอง, คำหยุม, คำยุ่ง (ลำปาง), คำทอง และ หงฮัว (จีน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Carthamus tinctorius L.
ชื่อสามัญ : Safflower, False Saffron, Saffron Thistle
วงศ์ : COMPOSITAE



KF2

คำฝอยเป็นสมุนไพรล้มลุกที่ปลูกมากในแถบภาคเหนือของประเทศไทย ลักษณะของดอกคำฝอยมีสีที่สวยงาม โดดเด่น สามารถนำไปใช้เป็นสารย้อมสีได้ นอกจากนี้ คำฝอยยังนิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพรในการรักษาโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสรรพคุณในด้านการขับโลหิต แก้พิษ ช่วยในการทำงานเกี่ยวกับระบบโลหิต ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น ป้องกันโรคหัวใจ อีกทั้งในดอกคำฝอยยังมีส่วนประกอบของกรดไขมันชนิดกรดลิโนเลอิก (Linoleic acid) ซึ่งเป็นกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อร่างกายในด้านการลดปริมาณคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด และยังช่วยลดการเผาผลาญไขมันของร่างกายให้เป็นไปโดยปกติ ดังนั้นจึงมีส่วนช่วยในการลดน้ำหนักได้อีกด้วย

 KF3

ลักษณะสมุนไพร :

คำฝอยเป็นไม้ล้มลุก มีความสูงประมาณ 40-130 เซนติเมตร ลำต้นมีกิ่งก้านแตกออกโดยรอบ ใบเป็นใบเดี่ยว ทรงรี ปลายเป็นหนามแหลม ลักษณะใบคล้ายรูปหอก ขนาดกว้าง 1-5 ซม. ยาว 3-12 ซม. ขอบใบหยัก ออกเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายยอด ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ออกติดกันจำนวนมาก ดอกคำฝอยมีลักษณะคล้ายดอกดาวเรืองเมื่อบานในช่วงแรกจะมีกลีบดอกสีเหลือง จากนั้นกลีบดอกจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม จนกระทั่งเมื่อแก่จัดดอกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มแดง ใบประดับมีลักษณะเป็นหนามแข็ง ผลคำฝอยมีสีขาว ลักษณะคล้ายรูปไข่หัวกลับ เบี้ยวๆ ปลายตัด มีสัน 4 สัน ขนาดของผลยาวประมาณ 0.-6-0.8 เซนติเมตร ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดเปลือกแข็ง รูปสามเหลี่ยมยาวรี สีขาว ขนาดเล็ก เมื่อผลแก่แห้งเมล็ดจะไม่แตกกระจาย

คำฝอยเป็นพืชทนแล้งที่มีอายุสั้น เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทราย ระบายน้ำได้ดี มักขึ้นในพื้นที่ที่มีระดับความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร ระยะเวลาการปลูกก่อนเก็บเกี่ยวประมาณ 80-120 วัน โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการงอกอยู่ระหว่าง 5-15 องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิที่เหมาะสมในการออกดอกอยู่ระหว่าง 24-32 องศาเซลเซียส

KF1

ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ดอก, เกสร, เมล็ด และ น้ำมันจากเมล็ด
สรรพคุณทางยา :

  1. ดอก รสหวาน ช่วยบำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับเหงื่อ แก้น้ำเหลืองเสีย แก้โรคผิวหนังหรืออาการแสบร้อนตามผิวหนัง และช่วยลดไขมันในเส้นเลือด
  2. เกสร บำรุงโลหิตประจำเดือน
  3. เมล็ด ช่วยขับเสมหะ ขับประจำเดือน แก้โรคผิวหนัง แก้บวม แก้ปวดมดลูกหลังคลอดบุตร และลดไขมันหรือคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด
  4. น้ำมัน น้ำมันได้จากเมล็ดดอกคำฝอยประกอบด้วยกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว ช่วยแก้อัมพาต และแก้อาการขัดตามข้อในร่างกาย

การใช้คำฝอยมีข้อควรระวัง คือ หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน เนื่องจากเป็นยาบำรุงเลือดและขับประจำเดือน จึงอาจทำให้แท้งได้หากรับประทานในปริมาณมาก

KF5

วิธีการใช้ :

  1. บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ นำกลีบดอกคำฝอยมาชงกับน้ำร้อน ดื่มรับประทานแทนน้ำ
  2. ลดปริมาณไขมันในเส้นเลือด ใช้ดอกแห้ง 2.5 กรัม ชงกับน้ำร้อนครึ่งแก้ว ดื่มรับประทาน
  3. บรรเทาอาการปวดมดลูกหลังคลอด ตำเมล็ดคำฝอยให้ละเอียด พอกบริเวณหัวหน่าว
  4. รักษาโรคผิวหนัง แก้บวม ใช้น้ำมันจากเมล็ดทาบริเวณผิวหนัง ลดอาการฟกช้ำดำเขียว
  5. รักษาแผลกดทับ ต้มดอกคำฝอยในน้ำเดือดด้วยไฟปานกลางประมาณ 2 ชั่วโมง จนดอกเปลี่ยนเป็นสีขาว ตักกากออกแล้วเคี่ยวต่อด้วยไฟอ่อนๆจนน้ำเหนียวเป็นกาว ทายาลงบนผ้าสะอาดแล้วปิดบริเวณที่เป็นแผลกดทับ เปลี่ยนยาวันละ 1-2 ครั้ง ทำติดต่อกันประมาณ 1 อาทิตย์

KF6

ถิ่นกำเนิด :
คำฝอยมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศตะวันออกกลาง บริเวณประเทศรัสเซีย ตอนใต้ทางตะวันตกของอิหร่าน อิรัก ซีเรียและทางตอนใต้ของตุรกี จอร์แดน อิสราเอล

 





.